สถาบันโรคผิวหนัง ชี้แจงแล้ว! ผมร่วงและปวดหลัง เป็นอาการออฟฟิศซินโดรม หรือไม่?
ตามที่มีข้อมูลในสังคมออนไลน์เกี่ยวกับประเด็นเรื่องผมร่วงและปวดหลังเป็นอาการของโรคออฟฟิศซินโดรม ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
จากกรณีที่มีผู้โพสต์ระบุว่าผมร่วงและปวดหลังเป็นอาการของโรคออฟฟิศซินโดรม ทางสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่าอาการผมร่วง มีทั้งลักษณะที่ร่วงทั่วทั้งศีรษะหรือผมร่วงเป็นหย่อม และผมร่วงแบบไม่มีแผลเป็น หรือผมร่วงแบบมีแผลเป็นบนหนังศีรษะ ทั้งนี้อาการผมร่วงอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ตามหลังการเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ หลังการคลอดบุตร หลังการลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว ภาวะเครียด และโรคไทรอยด์ เกิดได้ทั้งจากภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ที่สูงหรือต่ำเกินไป โรคทางผิวหนังบางชนิด เช่น โรคผมร่วงเป็นหย่อม โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Systemic Lupus Erythematosus, SLE) การติดเชื้อรา ไวรัส หรือแบคทีเรีย การได้รับยาหรือสารเคมีบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัด รวมถึงโรคทางพันธุกรรมบางชนิดที่ทำให้เกิดความผิดปกติของเส้นผมและผมร่วงได้ เป็นต้น ดังนั้นเมื่อพบมีภาวะผมร่วง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุ และให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป
โรคออฟฟิศซินโดรม เกิดจากการทำงานบางอย่างในท่าทางเดิม ๆ ที่ไม่เหมาะสม ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน และอาจมีสภาพร่างกาย หรือสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เหมาะสมร่วมด้วย ทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อเฉพาะบางส่วนของร่างกายได้ที่พบบ่อย ได้แก่ คอ บ่า ไหล่ สะบัก และอาจมีอาการปวดร้าวไปบริเวณใกล้เคียง บางรายพบมีอาการชาหรืออ่อนแรงร่วมด้วย จากการกดทับเส้นประสาทเป็นเวลานาน ซึ่งการรักษาหลัก ๆ ของโรคออฟฟิศซินโดรม คือ การปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน การทำกายภาพบำบัด การออกกำลังกาย การปรับอิริยาบถให้เหมาะสม และอาจร่วมกับการรักษาทางเลือกอื่นๆร่วมด้วย เช่น การนวดแผนไทย การฝังเข็ม ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์
กล่าวโดยสรุป คือ โรคไทรอยด์ และโรคแพ้ภูมิตัวเองเป็นหนึ่งในสาเหตุของภาวะผมร่วงได้ และอาการปวดหลังเป็นหนึ่งในอาการที่พบได้บ่อยของโรคออฟฟิศซินโดรม แต่การมีผมร่วงร่วมกับอาการปวดหลังไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงหรือเป็นอาการบ่งชี้โดยตรงของการเกิดโรคออฟฟิศซินโดรม อย่างไรก็ตามหากพบมีอาการผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติมของภาวะดังกล่าว
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.iod.go.th หรือโทร. 02-354-5222
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : อาการปวดหลังเป็นหนึ่งในอาการที่พบได้บ่อยของโรคออฟฟิศซินโดรม แต่การมีผมร่วงร่วมกับอาการปวดหลังไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงหรือเป็นอาการบ่งชี้โดยตรงของการเกิดโรคออฟฟิศซินโดรม
ภาพ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม