รีเซต

"นุ๊กซี่ แฟนปูแบล็คเฮด" เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านม เตือน! ปัจจัยเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม ที่ต้องรู้

"นุ๊กซี่ แฟนปูแบล็คเฮด" เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านม เตือน! ปัจจัยเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม ที่ต้องรู้
Ingonn
27 มีนาคม 2565 ( 08:49 )
9K
"นุ๊กซี่ แฟนปูแบล็คเฮด" เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านม เตือน! ปัจจัยเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม ที่ต้องรู้

อีกข่าวเศร้าในวงการบันเทิง เมื่อ "ปู แบล็คเฮด" หรือ นายอานนท์ แสงสายจันทร์ ประกาศผ่านโซเชียลว่า "นุ๊กซี่" อัญพัชญ์ วัฒนาตันติรันต์ แฟนสาว เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านม ระยะที่ 3 ในวัย 33 ปี หลังจากรักษาโรคมะเร็งตั้งแต่ เดือน มี.ค. 2564 โดย "ปู แบล็คเฮด" โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Arnon Saisangchan ว่า "นู๋เป็นห่วงพี่ที่สุด ห่วงยิ่งกว่าตัวเองซะอีก นู๋จะสู้กับมันจะอยู่ดูแลพี่อีกนานๆ…หลับให้สบายนะคะสุดที่รักของพี่ ไม่ต้องเป็นห่วงอะไรทั้งนั้น" ซึ่ง "นุ๊กซี่" เสียชีวิตที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เมื่อช่วงเวลาประมาณ 00.10 น. (วันที่ 27 มีนาคม 2565) ที่ผ่านมา

 

ภาพจาก เฟซบุ๊ก Arnon Saisangchan

 

ภาพจาก เฟซบุ๊ก อัญพัชญ์ วัฒนาตันติรัตน์ (nookzii nook)

 

 

วันนี้ TrueID จึงจะพามาสำรวจ และเตือนภัยใกล้ตัวสาวๆ เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม อีกหนึ่งโรคร้ายใกล้ตัวที่มีโอกาสเสียชีวิต เช่นเดียวกับ "นุ๊กซี่ แฟนปูแบล็คเฮด"

 

มะเร็งเต้านม คืออะไร

มะเร็งเต้านม คือ มะเร็งที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในเต้านม โดยเฉพาะเซลล์ท่อน้ำนม หรือในต่อมน้ำนมที่มีการเจริญเติบโตและควบคุมไม่ได้ โดยเซลล์จะเริ่มแบ่งตัวผิดปกติแล้วลุกลามไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียง จากนั้นหากปล่อยไว้ อาจแพร่กระจายไปยังเซลล์อื่น ๆ ในร่างกายได้ ผ่านทางเดินน้ำเหลือง เช่น ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ หรือบริเวณไหปลาร้า


มะเร็งเต้านม เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ท่อน้ำนม ซึ่งพบได้มากที่สุด ประมาณ 80% ส่วนมะเร็งที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ต่อมน้ำนม จะพบได้น้อยกว่า โดยพบประมาณ 10%

 

ปัจจัยเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านม 

  1. เพศ เพศหญิงมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้ชายถึง 100 เท่า

  2. เชื้อชาติ ผู้หญิงในชาติตะวันตก จะมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้หญิงเอเชีย

  3. การมีบุตร และการให้นมบุตร: การศึกษาพบว่า ผู้หญิงที่มีการคลอดบุตร เลี้ยงบุตรด้วยนมของตัวเอง จะช่วยป้องกันโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมได้ ในขณะเดียวกัน กลุ่มที่ไม่มีบุตร เป็นหมัน กินยาคุมกำเนิด หรือไม่ได้เลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมตัวเองนั้น จะมีความโอกาสเสี่ยงมากยิ่งขึ้น

  4. ฮอร์โมนเพศ ประจำเดือนมาตั้งแต่ตอนอายุน้อย ๆ หรือวัยหมดประจำเดือนมาถึงช้า ทำให้ร่างกายผู้หญิงมีโอกาสสัมผัสกับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนนานขึ้น จึงมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากยิ่งขึ้น

  5. อายุ เมื่อมีอายุมากขึ้น โอกาสเกิดความผิดปกติของยีนในเซลล์ก็จะเพิ่มขึ้น อาจส่งผลต่อการเกิดมะเร็งได้   
    • จากการศึกษาพบว่า ผู้หญิงอายุน้อยกว่า 45 ปี มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมประมาณ 1 ใน 8
    • ในขณะที่ผู้หญิงอายุ 55 ปีขึ้นไป มีโอกาสพบมะเร็งเต้านมประมาณ 2 ใน 3

  6. ความอ้วน โรคอ้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมมากขึ้น

  7. หน้าอกแน่น (Dense Breasts) การมีหน้าอกแน่น หมายถึงการมีเนื้อเยื่อและต่อมน้ำนมมากกว่าคนอื่น ๆ จึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่า นอกจากนี้ โครงสร้างเนื้อเยื่อที่หนาแน่น ก็ทำให้แพทย์มองเห็นมะเร็งด้วยแมมโมแกรมได้ยากขึ้นด้วย
    • การพิสูจน์ว่าหน้าอกแน่น ไม่ได้เกิดจากการทดลองสัมผัสเต้านมดูว่ากระชับไหม คนที่มีหน้าอกกระชับ ไม่ได้แปลว่าจะมีหน้าอกแน่นเสมอไป ต้องเป็นการวินิจฉัยโดยแพทย์ผ่านการทำแมมโมแกรมดูโครงสร้างเนื้อเยื่อเท่านั้น

  8. มีประวัติของโรคและการรักษาเกี่ยวกับเต้านม: หากเคยมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับเต้านม หรือเคยได้รับการฉายรังสีในบริเวณดังกล่าว จะเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งได้

  9. พันธุกรรม มีประวัติโรคมะเร็งเต้านมทางครอบครัว โดยเฉพาะหากญาติที่เป็นมะเร็งชนิดนี้เป็นญาติสายตรง จะยิ่งเสี่ยงมากขึ้น เช่น ม่ น้องสาว หรือพี่สาว

  10. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้หญิงกลุ่มที่ดื่มแอลกฮอล์เป็นประจำ จะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมสูงกว่าผู้หญิงที่ไม่ดื่ม

  11. เป็นมะเร็งเต้านมข้างหนึ่งแล้ว หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมข้างหนึ่ง จะมีความเสี่ยงถึง 3 – 4 เท่า ที่จะเกิดมะเร็งขึ้นที่เต้านมอีกข้างหนึ่ง

  12. ควันบุหรี่ การสูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่ (ควันบุหรี่มือสอง) มีส่วนเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งเต้านม
     

 

วิธีสังเกตมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง

  1. คลำพบก้อนที่เต้านม หรือบริเวณรักแร้ หากเป็นระยะเริ่มแรกของมะเร็ง จับแล้วมักไม่รู้สึกเจ็บ จึงไม่ควรชะล่าใจ อย่าคิดเองว่าไม่รู้สึกเจ็บ แปลว่าไม่ใช่มะเร็ง
  2. เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติต่าง ๆ ขึ้นที่เต้านมเพียงข้างเดียว
  3. เต้านมโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเริ่มจากเป็นข้างใดข้างหนึ่ง
  4. รูปร่างของเต้านมเปลี่ยนไป ไม่เหมือนเดิม โดยที่ไม่เคยผ่าตัดมาก่อน
  5. มีการเปลี่ยนแปลงของผิวเต้านม เช่น ผิวหนังแข็งหรือหนาขึ้น มีก้อนเนื้อที่นูนขึ้นหรือขรุขระ มีสีผิวเปลี่ยนแปลงไป เกิดแผลเรื้อรัง (หรือแผลที่รักษาไม่หาย) หรือเป็นรอยรูขุมขนชัดขึ้นเหมือนเปลือกผิวส้ม
  6. มีอาการเจ็บปวดเต้านมข้างหนึ่ง อาจเป็นเล็กน้อยหรือเป็นมากก็ได้
  7. มีอาการบวมแดงตรงเต้านม อาจมีอาการปวดหรือมีแผลในบริเวณที่บวมแดงร่วมด้วย
  8. มีรอยบุ๋มหรือย่นบริเวณเต้านม
  9. มีอาการเน่าของหัวนม หรือส่วนอื่น ๆ บริเวณเต้านม
  10. หัวนมบุ๋มเข้าไปในเต้านม หรือไม่สม่ำเสมอ โดยไม่ได้เป็นมาตั้งแต่กำเนิด หรือไม่ได้เกิดจากการผ่าตัด
  11. มีเลือดและ/หรือของเหลว เช่น น้ำเหลืองใส ๆ ที่ผิดปกติไหลออกจากหัวนม หรือผู้หญิงที่ยังไม่มีเกณฑ์ให้นมบุตร แต่มีน้ำนมไหลออกมาผิดปกติ ก็ถือว่าเป็นอาการสัญญาณเตือนด้วยเช่นกัน
  12. มีแผลที่บริเวณหัวนม มีลักษณะเป็นแผลสีแดง และมักจะรักษาไม่หาย
  13. หากมีอาการดังกล่าว ให้มาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจโดยละเอียดอีกที แต่อย่าตื่นตระหนก เนื่องจากอาการบางอาการ ยังไม่ใช่ตัวชี้วัดว่าเราเป็นมะเร็งเต้านมแน่ ๆ แต่เป็นอาการที่พบได้บ่อยและมักสัมพันธ์กับมะเร็ง

 

 

ข้อมูลจาก โรงพยาบาลพระราม 9

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง