รีเซต

เฉียนไห่ ... ประตูเชื่อมโลกแห่งใหม่ของจีน (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เฉียนไห่ ... ประตูเชื่อมโลกแห่งใหม่ของจีน (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
TNN ช่อง16
26 เมษายน 2568 ( 13:43 )
7

ในการเดินหน้าวางแผนการพัฒนาเขตความร่วมมือเฉียนไห่ รัฐบาลจีนทำอะไร อย่างไรอีกบ้าง เราคุยกันต่อเลยครับ ...
เมื่อปลายปี 2023 คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (NDRC) ของจีนได้เปิดเผยแผนการพัฒนา (Development Plan) ที่ยืนยันแนวทางการพัฒนาและการเปิดกว้างของเขตความร่วมมือเฉียนไห่ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ อาทิ ข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (BRI)
โดยกำหนดเป้าหมายสำคัญ 3 ระยะ ได้แก่ ปี 2025 (สิ้นสุดแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14) ที่ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาขึ้นเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศและเขตเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันระดับโลกภายในปี 2025 และยังตั้งเป้าหมายที่ท้าทายอื่นในปี 2030 (สิ้นสุดแพนฯ ฉบับที่ 15) และในปี 2035 (สิ้นสุดแผนฯ 16) อีกด้วย

ปี 2025 นับเป็นช่วงเวลาสำคัญในหลายส่วน เพราะไม่เพียงเป็นการครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน แต่ยังรวมถึงการครบรอบ 45 ปีของเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น และ 35 ปีของเขตเมืองใหม่ผู่ตง (เซี่ยงไฮ้) รวมทั้งการครบรอบ 15 ปีของเขตความร่วมมือเฉียนไห่ และการก้าวสู่ระยะใหม่ของความร่วมมือเซินเจิ้น-ฮ่องกงที่อยู่ห่างกันเพียงราว 5 กิโลเมตร

แต่รัฐบาลจีนคงไม่หยุดเพียงแค่นั้นเป็นแน่ เพราะจากข้อมูลของเขตความร่วมมือเฉียนไห่ระบุว่า โครงการกำลังขยายเขตอาณาไปถึงกว่า 8 เท่าตัว จากในระยะแรกที่มีขนาดไม่ถึง 15 ตารางกิโลเมตรที่เกือบทั้งหมดเป็นพื้นที่ถมทะเล เป็นกว่า 120 ตารางกิโลเมตรที่ขยายขอบข่ายเข้าไปในพื้นที่ตอนในในอนาคต

โดยผู้บริหารโครงการเริ่มพูดถึงวิสัยทัศน์ของเขตความร่วมมือเฉียนไห่ที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์หลักของจีนและการขยายขอบข่ายโครงการในระยะยาว อาทิ One Core, One Belt, Two Ports and 5 Districts” โดยให้ความสำคัญกับ 6 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และการยกระดับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในมาตรฐานเดียวกับของสิงคโปร์

ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2025 รัฐบาลจึงได้ประกาศเปิดตัวแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ของเขตความร่วมมืออุตสาหกรรมบริการสมัยใหม่เฉียนไห่-ฮ่องกง ซึ่งเป็นข้อริเริ่มใหม่ในการขับเคลื่อนการพัฒนาความร่วมมือทางด้านอุตสาหกรรมและการทวีกำลังตลาดของเซินเจิ้นและฮ่องกงเข้าด้วยกัน

แผนปฏิบัติการดังกล่าวถือเป็นการพัฒนากลยุทธ์การพัฒนาในเชิงคุณภาพที่ริเริ่มโดยรัฐบาลจีนเพื่อมุ่งสร้างเฉียนไห่ให้เป็นประตูชั้นนําสําหรับการเชื่อมต่อกับโลกภายนอก และสนับสนุนความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมของฮ่องกงผ่านการยกระดับความร่วมมือภายใน GBA ที่ครอบคลุมพื้นที่อ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊าที่กว้างขวางมากขึ้น ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนการพัฒนา GBA คุณภาพสูง

นั่นหมายความว่า ข้อริเริ่มดังกล่าวมุ่งหวังที่จะส่งเสริมตลาดระดับภูมิภาคที่ใหญ่ขึ้นและเป็นหนึ่งเดียวผ่านการพัฒนาระบบนิเวศที่เป็นนวัตกรรมและกลายเป็นเขตเมืองชายฝั่งที่ทันสมัย โดยพยายามที่จะกระชับความร่วมมือในหลายภาคส่วนระหว่างกัน อาทิ บริการทางการเงิน โลจิสติกส์เชิงพาณิชย์ บริการ เทคโนโลยี กิจกรรมพิเศษขนาดใหญ่ และอื่นๆ

ความร่วมมือดังกล่าวจึงถูกออกแบบเพื่อการส่งเสริมนวัตกรรมในด้านการเงิน เทคโนโลยี และบริการที่ทันสมัย และสนับสนุนการเติบโตสําหรับองค์กรที่ได้รับทุนสนับสนุนจากฮ่องกง อาทิ การจัดตั้งสํานักงานใหญ่ด้านนวัตกรรมในเฉียนไห่สําหรับฮ่องกงและบริษัทต่างประเทศ การจัดตั้งศูนย์เพิ่มขีดความสามารถของ SME และศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างประเทศ

ผู้บริหารโครงการยังเปิดเผยว่า เขตความร่วมมือเฉียนไห่วางแผนจะขยายการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ อาทิ เศรษฐกิจมหาสมุทร (Ocean Economy) และเศรษฐกิจดิจิตัล (Digital Economy) โดยจะจัดตั้งเขตสาธิตปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) และเรือไร้คนขับ (Driverless Vessel) ซึ่งจะทำให้พื้นที่ที่มีความพร้อมเชิงภูมิศาสตร์เพราะติดทะเล และเต็มไปด้วยกิจการไฮเทคชั้นนำ อาทิ Tencent และ Huawei แห่งนี้ กลายเป็นพื้นที่สาธิตนวัตกรรมทั้งสองแห่งแรกของโลกเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ตามแนวคิด “One Country, Two Systems & Three Custom Regions”  แผนปฏิบัติการดังกล่าวยังระบุถึงการปรับปรุงระบบบริการแบบครบวงจรในฮ่องกงเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของทรัพยากร “ข้ามพรมแดน” ที่มีประสิทธิภาพ และส่งเสริม “ความสอดคล้อง” ของกฎระเบียบ กลไก และมาตรฐานการกํากับดูแลด้านการเงิน ข้อมูล การค้าข้ามพรมแดน และการก่อสร้าง
ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่ย่านนี้จะมีสถานะเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจีน นั่นเท่ากับว่า เขตเมืองใหม่เฉียนไห่จะเพิ่มการสนับสนุนผู้ประกอบการ การจ้างงาน และการแลกเปลี่ยนการฝึกงานของเยาวชนฮ่องกง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันระดับโลกของ GBA โดยรวม และขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ประการสำคัญ จีนยังเดินหน้าปรับปรุงข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง (The Closer Economic Partnership Arrangement between Mainland China and Hong Kong) ผลบังคับใช้ในส่วนนี้นำไปสู่การเปิดตลาดบริการระหว่างสองภูมิภาคต่อไป

CEPA ฉบับแก้ไขเปิดทางช่วยยกระดับให้ฮ่องกงมีความเป็นเลิศด้านการเงิน การก่อสร้าง การสื่อสารโทรคมนาคม ภาพยนตร์ โทรทัศน์ และการท่องเที่ยว ทําให้กิจการและผู้เชี่ยวชาญในฮ่องกงมีความสามารถสามารถในการเข้าถึงตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ได้สะดวกขึ้น

ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบัน เขตความร่วมมือเฉียนไห่เป็นที่ตั้งของกิจการฮ่องกงเกือบ 10,000 แห่ง ขณะที่โรงงานในฝันของคนรุ่นเยาว์เฉียนไห่(เซินเจิ้น)-ฮ่องกง (Qianhai Shenzhen-Hong Kong Youth Dream Factory) ก็ได้บ่มเพาะสตาร์ทอัพฮ่องกงไปเกือบ 900 แห่งพร้อมเงินสนับสนุนจำนวนมหาศาล

หลายคนอาจสงสัยว่า นอกจากการพัฒนาระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดีและครบเครื่อง อาทิ กลไกการดึงดูดแรงงานฝีมือและผู้เชี่ยวชาญ ตลาดซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์เฉียนไห่ (Qianhai Mercantile Exchange) ศูนย์ไกล่เกลี่ยกรณีพิพาททางการค้า (GBA Arbitration Center) และการอุดหนุนบางอย่างแล้ว เขตความร่วมมือเฉียนไห่ยังให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี โดยเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 15% ของเงินได้

ภายหลังการเชื่อมโยงเข้ากับฮ่องกงและมาเก๊าผ่านเซินเจิ้นและทำให้ GBA เติบใหญ่ทั้งในเชิงขนาดเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขัน เขตความร่วมมือเฉียนไห่กำลังกลายเป็นหัวใจสำคัญที่จีนจะใช้เป็นประตูเศรษฐกิจอันทรงพลังอีกแห่งหนึ่งของจีนในการเชื่อมต่อกับโลกกว้างภายนอก ...

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง