ฟุ่มเฟือย = ช่วยชาติ ? คนรุ่นใหม่ (Gen Z) ซื้อไม่คิด ประคองเศรษฐกิจจีน l World Wide Wealth

ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก จากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างมหาอำนาจ "สหรัฐฯ และ จีน" เราอาจจะได้เห็นรายงานว่าผู้คนเริ่มใช้ชีวิตอยู่บนความกังวลใจ ประชาชนเริ่มรัดเข็มขัด ไม่กล้าใช้จ่าย แม้กระทั่งการกินข้าวนอกบ้านยังลดลง เช่น แมคโดนัลด์ ในสหรัฐอเมริกา ยอดขายต่ำสุดในรอบ 5 ปี จากการที่ลูกค้ากลุ่มหลัก ซึ่งก็คือกลุ่มรายได้น้อยถึงปานกลางเข้าร้านน้อยลง เพราะตัดการใช้เงินซื้อของกินนอกบ้าน
แต่ในขณะเดียวกันมองที่ไปจีน มีความเคลื่อนไหวน่าสนใจ ระบุว่าคนรุ่นใหม่พร้อมจ่ายเงิน ช็อปปิ้่งตามอารมณ์ ไม่สนใจเรื่องเศรษฐกิจ
อ้างอิงเรื่องนี้จากบทความจากสำนักข่าว Bloomberg เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2025 รายงานว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ของจีน (Gen Z) กำลังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศของตนเอง ด้วยพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เรียกว่า การใช้จ่ายเชิงอารมณ์ (emotional spending) เนื่องจากประเทศจีนกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา และรับแรงกระแทกจากภาษีทรัมป์ หรือการขึ้นภาษีศุลกากรครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์ ด้วยอัตราที่มากกว่า 100 % โดยประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ เนื่องจากต้องการตอบโต้ประเทศจีนที่เป็นคู่หลักรายใหญ่ที่สุด ที่ทางการสหรัฐฯนั้นต้องขาดดุลการค้า
ข้อมูลระบุว่าตอนนี้แม้เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวจากปัจจัยต่างประเทศและภาษีศุลกากรที่เพิ่มขึ้น แต่ Gen Z ของจีนกลับมีแนวโน้มใช้จ่ายเงินในสินค้าที่ให้ความสุขทางใจ เป็นสินค้าเฉพาะกลุ่ม เฉพาะทาง เช่น ของเล่นสะสม กล่องสุ่ม เครื่องประดับ ชานมไข่มุกเจ้าดังหรือกาแฟราคาแพงๆ ซื้อคอร์สเรียนออนไลน์หรือบริการสมัครสมาชิกแม้ไม่จำเป็น
พฤติกรรมนี้เรียกว่า "การใช้จ่ายเชิงอารมณ์" (emotional spending) ซึ่งช่วยกระตุ้นยอดขายของบริษัทต่าง ๆ ที่ตอบสนองความต้องการเหล่านี้ โดยกลุ่ม Gen Z (เจน ซี) หรือ Generation Z กลุ่มนี้มีอายุประมาณ 13–28 ปี ถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในประเทศจีน