จีนหั่นดอกเบี้ย LPR ครั้งแรกรอบ 7 เดือน 5 แบงก์รัฐลดดอกเบี้ยเงินฝาก หนุนกระตุ้นเศรษฐกิจ

ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปี ลง 0.10% สู่ระดับ 3.0% จากระดับ 3.1% และปรับลดอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปี ลง 0.10% สู่ระดับ 3.5% จากระดับ 3.6% ในวันนี้ (20 พ.ค.)
ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 1 ปีเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้น ส่วนอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปีเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยระยะยาว เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง
ธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ย LPR เป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนหรือนับตั้งแต่ธนาคารกลางได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวลง 0.25% ในเดือนต.ค.ปีที่แล้ว โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สถานการณ์ตึงเครียดด้านการค้าได้ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวยังเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลจีนได้ประกาศในช่วงต้นเดือนนี้ ซึ่งรวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และปรับลดจะปรับลดอัตราส่วนการกันสำรอง (RRR) สำหรับธนาคารพาณิชย์
ด้านธนาคารของรัฐรายใหญ่ 5 แห่งของจีนได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในวันนี้ (20 พ.ค.) ซึ่งเป็นไปตามความคาดหมายของตลาด ท่ามกลางความพยายามของทางการจีนในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการผ่อนคลายทางการเงินครั้งใหญ่ ขณะเดียวกันก็เป็นการบรรเทาผลกระทบจากรายได้จากดอกเบี้ยที่ลดลงในภาคธนาคาร
ธนาคารที่เข้าร่วมในการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ ได้แก่ ธนาคารอุตสาหกรรมและพาณิชย์แห่งประเทศจีน (Industrial and Commercial Bank of China), ธนาคารเพื่อการเกษตรแห่งประเทศจีน (Agricultural Bank of China), ธนาคารก่อสร้างแห่งประเทศจีน (China Construction Bank) และธนาคารแห่งประเทศจีน (Bank of China) โดยทั้งหมดได้ปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากระหว่าง 0.05% ถึง 0.25% ตามข้อมูลจากแอปพลิเคชันของธนาคาร
ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำบางประเภทลดลง 0.05% เหลือ 0.05%, อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี ลดลง 0.15% เหลือ 0.95% และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 และ 5 ปี ลดลง 0.25%
นักวิเคราะห์คาดว่า การปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารขนาดใหญ่เหล่านี้จะเป็นแนวทางให้ธนาคารขนาดเล็กปรับลดตามในระยะต่อไป
เมื่อต้นเดือนนี้ ทางการจีนได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายรายการ รวมถึงการลดอัตราดอกเบี้ยและการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ และภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ