รีเซต

อาหารเสริม ไม่ใช้ยารักษาโควิด-19 แต่สร้างภูมิคุ้มกันให้สุขภาพดีได้

อาหารเสริม ไม่ใช้ยารักษาโควิด-19 แต่สร้างภูมิคุ้มกันให้สุขภาพดีได้
Ingonn
14 พฤษภาคม 2564 ( 12:32 )
721

ในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาดหนักและคนไทยกำลังเริ่มทยอยฉีดวัคซีน ก็ยังมีกลุ่มคนรักสุขภาพที่นิยมซื้ออาหารเสริมรับประทานเพื่อปกป้องร่างกายจากการติดเชื้อโควิด-19 แต่ความจริงแล้วอาหารเสริมที่ซื้อมานั้น ช่วยรักษาโควิด-19 ได้จริงหรือเปล่า

 

 

วันนี้ TrueID ได้รวบรวมข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย. เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีจำหน่ายมากมายตามท้องตลาด ว่าปลอดภัยไหมและช่วยป้องกันหรือสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 ได้มากแค่ไหน

 


อาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร


ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ถือเป็นตัวช่วยในการดูแลสุขภาพ ทั้งวิตามิน สารสกัดจากวัตถุดิบธรรมชาติ ซึ่งมาในรูปแบบเม็ด แคปซูล ผง เกล็ด ของเหลวหรือลักษณะอื่น โดยมีสารอาหารหรือสารอื่นเป็นองค์ประกอบ และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ให้บริโภคนอกเหนือจากการบริโภคอาหารตามปกติ ไม่ควรนำมาบริโภคแทนอาหารมื้อหลัก ซึ่งการเลือกผลิตภัณฑ์เสริมอาหารให้เกิดประโยชน์ควรเลือกให้เหมาะสมกับสภาวะร่างกาย หากบริโภคอาหารหลากหลายครบ 5 หมู่ ในสัดส่วนที่เหมาะสมเป็นประจำอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องบริโภค แต่หากต้องการสารอาหารบางชนิดเพิ่มเติมจากมื้ออาหารปกติ สามารถบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสารอาหารชนิดนั้น เพื่อเป็นตัวช่วยได้ โดยต้องบริโภคตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัดเสมอ

 

 


เทคนิคการเลือกผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร


เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ฉลากแสดงเลขสารบบอาหาร 13 หลัก อยู่ในกรอบเครื่องหมาย อย. แต่ต้องประเมินให้ดีว่าการที่ผู้ขายแจ้งว่าผลิตภัณฑ์ได้รับอนุญาตจาก อย. แล้ว ไม่ได้หมายถึงผลิตภัณฑ์นั้นจะให้ผลลัพธ์ตามคำโฆษณา เพราะมีความเป็นไปได้ที่ผู้บริโภคอาจพบการโฆษณาที่เกินกว่าสรรพคุณที่ขออนุญาตกับ อย. ไว้ สำคัญควรอ่านคำเตือนบนฉลาก ซึ่งในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทุกชนิดจะแสดงคำเตือน เช่น "เด็ก และสตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน"

 

 


อาหารเสริม  x  รักษาโควิด


ผู้บริโภคบางส่วนได้รับข้อมูลจากบทความ คอลัมน์สุขภาพ หรือการสัมภาษณ์ต่างๆ ที่บอกถึงสรรพคุณยาว่าช่วยรักษาโรคต่างๆได้อย่างแม่นยำ เพราะมีวัตถุดิบยาที่ช่วยต้านโรคได้  ทางอย.จึงเน้นย้ำว่า "ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยา ไม่สามารถรักษาโรคได้” และการกล่าวสรรพคุณดูดีเกินไป มักไม่เป็นจริง ดังนั้นปริมาณของวัตถุดิบที่สกัดใส่ในผลิตภัณฑ์จะมีปริมาณสารที่ออกฤทธิ์ไม่ถึงขนาดที่จะใช้ในการบำบัด รักษาโรค หรือเปลี่ยนแปลงระบบการทำงาน ตลอดจนโครงสร้างร่างกายได้

 

 

 

ใครต้องระวังการทานอาหารเสริม


1.ผู้ที่มีโรคประจำตัว 


2.เด็ก


3.สตรีมีครรภ์


4.ผู้แพ้อาหารหรือยาบางชนิด


5.ผู้มีน้ำหนักตัวต่ำกว่าหรือมากกว่าเกณฑ์

 

ก่อนซื้ออาหารเสริมทุกครั้งควรปรึกษาแพทย์/เภสัชกร หรืออ่านฉลากยาให้ครบถ้วนก่อนบริโภค 

 

 

 

แม้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยา ไม่สามารถรักษาโรคได้ แต่อาหารบางชนิดมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายได้ หากรับประทานอย่างเหมาะสม

 

 

อาหารเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน


ทางด้านโภชนาการ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโรค สารพิษและสิ่งแปลกปลอมที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย คือ การที่มีภาวะโภชนาการที่ดี ได้รับพลังงาน สารอาหารหลักทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และสารอาหารรองทั้งวิตามิน A, C, E, D, B6, B9 (โฟเลต), B12 และแร่ธาตุสังกะสี ซีลีเนียม เหล็ก ทองแดง แมกนีเซียม และแมงกานีส รวมทั้งดื่มน้ำสะอาด ที่เพียงพอและสมดุลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการรับประทานอาหารให้ได้รับทั้งสารอาหารหลัก วิตามิน แร่ธาตุ ที่เพียงพอนั้น เราสามารถรับจากแหล่งอาหารจากธรรมชาติได้ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรับประทานในรูปแบบอาหารเสริมแต่อย่างใด เพราะยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันว่าวิตามินหรือแร่ธาตุตัวไหนจะป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 

 

สารอาหารเสริมภูมิคุ้มกัน


1. วิตามินซี ช่วยการทำงานของเม็ดเลือดขาวและช่วยกระบวนการทำลายเชื้อโรค ตามความต้องการปริมาณสารอาหารต่อวันซึ่งแหล่งวิตามินซีในอาหารจะอยู่ในผักและผลไม้เป็นส่วนใหญ่ แต่ข้อเสียของวิตามินชนิดนี้ คือจะสูญเสียได้ง่ายเมื่อโดนความร้อนและสัมผัสน้ำโดยตรง ดังนั้นการประกอบอาหารด้วยการนึ่งหรือผัดที่ใช้ระยะเวลาสั้น ๆ ก็จะช่วยรักษาคุณภาพวิตามินซีได้

 

  • เด็กอายุ 1-8 ปี ควรได้รับ 25-40 มิลลิกรัมต่อวัน 

 

  • เด็กและวัยรุ่นช่วงอายุ 9-18 ปี ควรได้รับ 60-100 มิลลิกรัมต่อวัน 

 

  • ผู้ใหญ่ อายุตั้งแต่ 19 ปีขึ้นไป ควรได้รับ 85-100 มิลลิกรัมต่อวัน 

 

 

 

2.วิตามินเอ ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ร่างกายสามารถดูดซึมและใช้ประโยชน์ได้สูง ได้แก่ เครื่องในสัตว์ ไข่แดง นม ผลิตภัณฑ์จากนม และอาหารประเภทผัก ได้แก่ ผักใบเขียวเข้ม ผักและผลไม้สีเหลืองและส้ม เช่น ตำลึง ผักบุ้ง แครอท ฟักทอง มันเทศสีเหลือง มะละกอสุก

 

 

3.สังกะสี มีส่วนช่วยการเจริญเติบโตและแบ่งเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน รวมทั้งควบคุมการทำงานของเอนไซม์ที่เป็นกลไกหลักของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ได้แก่ เนื้อสัตว์และเครื่องใน หอยนางรม สัตว์ปีกและปลา และที่รองลงมา ได้แก่ ไข่ นม

 

 

4. โปรตีน ช่วยสร้างเซลล์และสารภูมิคุ้มกันต่างๆ ซึ่งโปรตีนที่มีคุณภาพดีจะมีกรดอะมิโนจำเป็นที่ครบถ้วน สามารถได้รับจากเนื้อสัตว์ ไข่ นม (พร่องหรือขาดมันเนย) ชีส (เลือกชนิดที่ไขมันต่ำ) เต้าหู้ ถั่วเหลือง สำหรับโปรตีนจากพืช เช่น ถั่วต่างๆ เช่น ถั่วเมล็ดแห้ง (ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ) คู่กับถั่วเปลือกแข็งหรือเมล็ดพืช

 

 

5. จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์และจุลินทรีย์พรีไบโอติกส์ ช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย ได้แก่ โยเกิร์ตและนมเปรี้ยวที่ระบุไว้ว่ามีการเติมโพรไบโอติกส์ แต่ควรเลือกที่น้ำตาลต่ำ สำหรับอาหารที่มีจุลินทรีย์สุขภาพ ส่วนใหญ่แล้วอยู่ในแหล่งอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ธัญพืช ข้าวโอ๊ต ถั่วเมล็ดแห้ง กล้วย หัวหอมใหญ่ กระเทียม หน่อไม้ฝรั่ง 

 

 

 

เรียกได้ว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยารักษาโรคโควิด-19 แต่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่เสริมสร้างสุขภาพที่ดี โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งยาหรืออาหารเสริม แค่รับประทานอาหารที่มีประโยชน์จากแหล่งอาหารในชีวิตประจำวันก็สามารถช่วยสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงเพื่อไปต่อสู้กับโควิด-19 ได้

 

 

 

ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา , ดร.วนพร ทองโฉม  นักวิชาการโภชนศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง