โลกกำลังจมฝุ่น วิกฤตของมนุษยชาติ

พายุฝุ่นและทรายกำลังกลายเป็นหนึ่งในวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่ขยายตัวรวดเร็วที่สุดในโลก แต่กลับได้รับความสนใจน้อยอย่างน่าตกใจ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเสื่อมโทรมของที่ดิน และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่ยั่งยืน กำลังผลักดันให้พายุฝุ่นเกิดถี่ขึ้น รุนแรงขึ้น และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง
รายงานล่าสุดจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ระบุว่าขณะนี้มีประชากรกว่า 330 ล้านคนใน 150 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากพายุฝุ่นและทราย ขณะเดียวกันข้อมูลระหว่างปี 2018–2022 พบว่า ประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของโลก ราว 3.8 พันล้านคน ได้สัมผัสกับระดับฝุ่นละอองที่เกินค่าความปลอดภัยที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากช่วงปี 2003–2007 ที่มีผู้ได้รับผลกระทบราว 2.9 พันล้านคน
ฝุ่นละอองในอากาศไม่เพียงลดทัศนวิสัยหรือทำให้กระจกหน้าต่างมัวหมอง หากแต่เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของมนุษย์ในระดับร้ายแรง โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง องค์กรสหประชาชาติประเมินว่า พายุฝุ่นทรายมีส่วนทำให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 7 ล้านคนต่อปี และยังส่งผลต่อภาคการเกษตรโดยตรง เนื่องจากฝุ่นสามารถลดผลผลิตได้มากถึง 25% ซึ่งนำไปสู่ภาวะขาดแคลนอาหาร และการอพยพย้ายถิ่นของประชากรในพื้นที่เปราะบาง
ในเชิงเศรษฐกิจ ผลกระทบจากพายุฝุ่นและทรายสร้างความเสียหายมหาศาล โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ที่ต้องเผชิญความสูญเสียคิดเป็นมูลค่าราว 150,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี หรือราว 2.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รวมถึงส่งผลกระทบต่อการคมนาคมทั้งทางอากาศและทางบก และลดประสิทธิภาพของแหล่งผลิตพลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์
ฝุ่นทรายไม่ได้กระจายตัวเฉพาะในภูมิภาคต้นกำเนิดเท่านั้น กว่า 80% ของฝุ่นในโลกมาจากทะเลทรายในแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง แต่สามารถลอยข้ามทวีปได้เป็นพันกิโลเมตร ฝุ่นจากทะเลทรายซาฮาราเคยเดินทางไกลถึงทะเลแคริบเบียนและชายฝั่งฟลอริดาของสหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นว่าพายุฝุ่นเป็นปัญหาข้ามพรมแดนที่ต้องการความร่วมมือระดับโลกในการจัดการ
ในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา หลายประเทศในภูมิภาคอาหรับต้องเผชิญกับพายุฝุ่นที่รุนแรง โรงพยาบาลในอิรักมีผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน ส่วนในคูเวตและอิหร่าน โรงเรียนและที่ทำงานบางแห่งต้องปิดทำการชั่วคราว
สถานการณ์เหล่านี้ผลักดันให้ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ประกาศให้ช่วงปี 2025–2034 เป็น "ทศวรรษแห่งการต่อสู้กับพายุฝุ่นและทราย" โดยเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ เสริมสร้างการเตือนภัยล่วงหน้า พัฒนาการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นต้นตอของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ในขณะที่ฝุ่นทรายอาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าทุกครั้ง แต่มันกำลังกัดกร่อนสุขภาพ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างเงียบงัน วิกฤตนี้จึงไม่ใช่เพียงเรื่องของทะเลทรายเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องของโลกทั้งใบ ที่ต้องเร่งหาทางออกก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
