รีเซต

อุณหภูมิโลกไต่ระดับร้อนสูงเกินเกณฑ์ จ่อเพิ่มแตะ 2°C โลกเตรียมรับอากาศรุนแรงสุดขั้ว

อุณหภูมิโลกไต่ระดับร้อนสูงเกินเกณฑ์ จ่อเพิ่มแตะ 2°C โลกเตรียมรับอากาศรุนแรงสุดขั้ว
TNN ช่อง16
13 กุมภาพันธ์ 2567 ( 18:04 )
60

รองศาสตราจารย์ ดร.เสรี ศุภราทิตย์ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต สะท้อนว่านี่เป็นสัญญาณเตือนโลกร้อนเร็วกว่าที่คิด อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นแตะไปถึง 1.52 องศาเซลเซียส น่ากังวลว่าปีนี้จะเป็นปีที่หนักสำหรับโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย



โลกทำสถิติร้อนที่สุดอีกปีนี้ ? เปิดงานวิจัยแนวโน้มอุณหภูมิโลกเพิ่มแตะ 2 องศาฯ



รศ.ดร.เสรี บอกว่า ปี 2567 อาจได้เห็นโลกทำสถิติร้อนที่สุดอีกครั้ง หลังจากปีที่แล้วทำสถิติร้อนที่สุดไปแล้วจากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มแตะ 1.5 องศาเซลเซียสอยู่ประมาณ 180 วัน หรือครึ่งปี แม้เพียงเริ่มต้นปีนี้อุณหภูมิโลกที่สูงเกิน 1.5 องศาฯ ไปแล้วจะยังไม่เข้าเกณฑ์เฉลี่ยระยะยาวตามข้อตกลงปารีส แต่นี่คือสัญญาณว่าปีนี้โลกหนีไม่พ้นความรุนแรงสภาพอากาศสุดขั้ว


และไม่เพียงอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น 1.52 องศาฯ แต่ยังมีงานวิจัยที่บ่งชี้ความเป็นไปได้มากกว่าร้อยละ 84ที่โลกจะมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นแตะไปถึง 2 องศาฯ ซึ่งจะทำให้ทั่วโลกเสี่ยงเผชิญสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว โดยไม่สามารถกลับไปสู่สภาวะสมดุลได้ เช่นกรณีน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น การสิ้นสลายของปะการังในมหาสมุทร รวมทั้งการสูญเสียระบบนิเวศบนโลก


ความผิดปกติของท้องทะเล ผลกระทบชัดเจนที่สุดจากภาวะโลกร้อน ?



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทางทะเลรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นทุก 5 ถึง 8 ปี แต่ด้วยภาวะโลกร้อนที่หนักขึ้นเรื่อย ๆ ได้ยกระดับเอลนีโญให้แรงขึ้น ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่อุณหภูมิน้ำทะเลสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ขณะที่คาดการณ์ปีนี้เอลนีโญน่าจะสิ้นสุดราวเดือนมิถุนายน ดังนั้นช่วงฤดูร้อนนี้ อากาศจะยิ่งร้อน น้ำทะเลก็จะร้อนมากกว่าเดิม ล่าสุดสถิติอุณหภูมิน้ำทะเลในเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งไม่ใช่เดือนที่ร้อนที่สุดแต่อุณหภูมิน้ำทะเลอยู่ที่ 30 องศาฯ แล้ว และหากเกิน 30.5 องศาฯ ก็จะส่งผลให้ปะการังเกิดการฟอกขาว รวมถึงระบบนิเวศสัตว์น้ำไม่ว่าทะเลธรรมชาติ หรือ เลี้ยงชายฝั่งเพื่อการประมง ก็อาจจะลดจำนวนหรือตายลงได้



“4-5 ปี ที่ผ่านมาระบบนิเวศทะเลไทยได้รับผลกระทบที่ชัดเจนจากภาวะโลกร้อน ปะการังเกิดการฟอกขาวต่อเนื่อง ล่าสุดระบบนิเวศหญ้าทะเลเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง แหล่งหญ้าทะเลในพื้นที่หลักหลายจังหวัดของไทยลดจำนวนลงจนถึงหายไป แม้ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน แต่คาดการณ์ว่าน่าจะเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากโลกร้อน”


อุณหภูมิโลกร้อนไต่ระดับสูงขึ้น “โลกเดือด ทะเลร้อน” ไม่ใช่เรื่องเกินจริง!!

ศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิตย์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า ธรรมชาติส่งสัญญาณเตือนอย่างต่อเนื่องผ่านสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงแบบสุดขั้ว ภาวะโลกร้อนซ้ำเติมปรากฏการณ์ "เอลนีโญ-ลานีญา" หนักกว่าปกติ กระทบทั้งบนบก ทะเล และแผ่นน้ำแข็งขั้วโลกเหนือ (อาร์กติก) และ ขั้วโลกใต้ (แอนตาร์กติก) ละลายในอัตรารวดเร็วเกินคาด



“ช่วงปลายปี 2566 นักวิจัยของจุฬาฯ ภายในโครงการวิจัยขั้วโลก(อาร์กติกและแอนตาร์กติก)ตามพระราชดำริฯ ร่วมเดินทางสำรวจขั้วโลกเหนือกับทีมวิจัยต่างประเทศกับเรือตัดน้ำแข็งซูหลง 2 ของจีน เรือสามารถเข้าไปถึงจุดที่เป็นขั้วโลกเหนือ ณ ละติจูด 90 องศาได้สำเร็จอย่างไม่ยาก สะท้อนว่าแผ่นน้ำแข็งที่บางลงไปมาก เช่นเดียวกับทีมนักวิจัยที่ส่งไปสำรวจขั้วโลกใต้ ก็พบว่าน้ำแข็งขั้วโลกใต้ละลายไปมากเช่นกัน”



สัตว์ขั้วโลกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพนกวิน หมีขาว รวมถึงสัตว์น้ำน้อยใหญ่ต้องอพยพ น้ำแข็งละลายทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นทั่วโลก ชายฝั่งเกิดการกัดเซาะรุนแรงมากขึ้น แต่ที่นักวิจัยให้ความสำคัญมาก ๆ กับติดตามการละลายของแผ่นน้ำแข็งก็คือ จุลินทรีย์ที่ฝังตัวนิ่งใต้แผ่นน้ำแข็งมาอย่างยาวนาน แต่เมื่อน้ำแข็งละลายอาจทำให้จุลินทรีย์เกิดกลไกการทำงานและอาจจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า "โรคอุบัติใหม่" ได้


“โลกร้อน โลกเดือดมันนำเราไปมาก ทุกวันนี้มีวิธีการแก้ไขมีมาตรการจริงจังแล้ว แต่ไม่พอ ต่อให้เราหยุดปล่อยก็าซเรือนกระจกวันนี้ได้ โลกก็ไม่ได้หยุดร้อน เพราะเราไปเร่งมันจนสุดแล้ว แต่ก็ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย” ศ.ดร.สุชนา ย้ำ



ก่อนหน้านี้วารสาร Nature ตีพิมพ์ผลการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ที่ติดตามสถานการณ์ธารน้ำแข็งมากกว่า 235,000 แห่ง ในช่วงเวลา 38 ปี ตั้งแต่ปี 1985 – 2022 พบว่า แผ่นน้ำแข็งมีการลดขนาดลงอย่างมหาศาล โดยเฉพาะธารน้ำแข็งกรีนแลนด์ตัวชี้วัดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากภาวะโลกร้อน สูญหายไป 221 พันล้านตันทุกปี นับตั้งแต่ปี 2003 แต่การศึกษาใหม่ได้เพิ่มไปอีกปีละ 43 พันล้านตัน  เท่ากับน้ำแข็งกรีนแลนด์ละลายประมาณ 30 ล้านตันต่อชั่วโมง


นักวิทยาศาสตร์กังวลว่า สถานการณ์น้ำแข็งละลายจะส่งมวลน้ำจืดไหลลงมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือเพิ่มมากขึ้น จนอาจกระทบระบบกระแสน้ำ AMOC ในแอตแลนติกเหนือ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของ "เทอร์โมฮาไลน์"  (Thermohaline Circulation) หรือ สายพานลำเลียงกระแสน้ำขนาดยักษ์ที่ไหลเวียนไปในทุกมหาสมุทรทั่วโลกที่ทำหน้าที่รักษาสมดุลของภูมิอากาศให้เสียสมดุลได้


จิตฤดี บรรเทาพิษ เรียบเรียง

เครดิตภาพ  TNN , Reuters

ข่าวที่เกี่ยวข้อง