รีเซต

ศึกชิงพอร์ตซิตี้9หมื่นล้าน เดือดKTC-KBANKหวังไกล

ศึกชิงพอร์ตซิตี้9หมื่นล้าน เดือดKTC-KBANKหวังไกล
ทันหุ้น
25 พฤษภาคม 2564 ( 08:00 )
92
ศึกชิงพอร์ตซิตี้9หมื่นล้าน เดือดKTC-KBANKหวังไกล

 

ทันหุ้น-จับตา KTC ประกาศท้าชน KBANK เข้าชิงพอร์ตลูกค้ารายย่อย 9 หมื่นล้าน จาก"ซิตี้กรุ๊ป" คาดแข่งขันสูงเหตุการขยายสินเชื่อให้เติบโตยากช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว  ได้เห็นอัพไซด์ราคาหุ้น มอง KBANK และ SCB พร้อมสุด ส่วน KTC หากชนะจะดีได้พอร์ตลูกค้าระดับ A ลูกหนี้ทับซ้อนน้อย เชื่อ KTC กู้เงินมาซื้อพอร์ต D/E เพิ่มเป็น 4 เท่ายังยอมรับได้

 

จากกรณีที่ ซิตี้กรุ๊ป เคยประกาศเลิกธุรกิจพอร์ตรายย่อย ใน 13 ประเทศ รวมทั้งในประเทศไทย จึงทำให้มีกระแสข่าวว่าธนาคารไทยบางแห่งสนใจจะเข้าประมูลซื้อพอร์ตรายย่อยดังกล่าว โดยผู้บริหารธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) หรือ KBANK ก่อนหน้านี้ระบุว่าอยู่ระหว่างการศึกษา แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจ รวมถึงนักวิเคราะห์คาดว่าบริษัท กรุงไทย จำกัด(มหาชน) หรือ KTC ก็สนใจเข้าร่วมประมูลเช่นกัน

 

นายธนภัทร ฉัตรเสถียร ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด คาดว่าจะมีสถาบันการเงินของไทยหลายแห่ง ที่สนใจจะยื่นข้อเสนอซื้อพอร์ตลูกค้ารายย่อยของซิตี้กรุ๊ป เนื่องจากว่าการขยายสินเชื่อของธนาคารให้เติบโตในช่วงนี้ ทำได้ลำบาก ดังนั้นการเข้าซื้อพอร์ตลูกค้าจากซิตี้ กรุ๊ป หากได้ก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้สินเชื่อเติบโตเพิ่มขึ้นได้ และจะเป็น upside ต่อผลประกอบการและราคาเป้าหมายของหุ้นได้ หากราคาที่ซื้อมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม คุ้มค่าต่อการลงทุนไม่สูงจนเกินไป คาดว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย มีความพร้อมในด้านแหล่งเงินทุน และมองว่ามีความเหมาะสมของธุรกิจหากชนะการประมูล

 

ประเมินผลประกอบการของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในปีนี้ จะดีกว่าปีก่อน เนื่องจากปีก่อนได้รับผลกระทบจากการล็อคดาวน์ รวมถึงธนาคารส่วนใหญ่มีการตั้งสำรองไว้สูง เผื่อในอนาคต ขณะที่ในปีนี้ปัจจัยดังกล่าวผ่อนคลายลง โดยเลือกหุ้นเด่นในกลุ่มและแนะนำให้ซื้อ ประกอบด้วย  BBL, KBANK และ TISCO

 

@KTC พอร์ตทับซ้อนน้อย

 

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ว่า KTC เป็นอีกรายหนึ่งที่สนใจพอร์ตสินเชื่อรายย่อยของซิตี้กรุ๊ป เนื่องจากลูกค้าของ KTC ส่วนใหญ่จะเป็นระดับ B และ C เป็นส่วนใหญ่ เพิ่งมาเน้นลูกค้าระดับ A ในช่วง 2-3 ปีหลัง จึงเชื่อว่าพอร์ตลูกหนี้จะทับซ้อนกันน้อยมาก แม้จะสนใจร่วมประมูล แต่ต้องดูรายละเอียดขึ้นอยู่กับราคาซื้อด้วย อย่างไรก็ตามจากสัดส่วนหนี้สินต่อทุนหรือ D/E ของ KTC ที่ระดับ 2.4 เท่า เชื่อว่าการกู้มาซื้อพอร์ตราว 7 หมื่นล้านบาท จะทำให้ D/E เพิ่มขึ้นเป็นราว 4 เท่า ซึ่งมองว่าระดับที่น้อยกว่า 5 เท่าถือเป็นระดับที่ยอมรับได้

 

@KBANK ดันพอร์ตรายยย่อย

 

ส่วนบริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด(มหาชน) ระบุว่า หาก KBANK ชนะจะช่วยต่อยอดการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อรายย่อย (บัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล) ซึ่งเป็นพอร์ตที่มีอัตราผลตอบแทนสูง 16-25% นอกจากนี้มองว่าพอร์ตลูกหนี้ของซิตี้กรุ๊ป เป็นกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพ ทำให้ธนาคารสามารถต่อยอด Cross selling ผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้านอื่นได้

 

จากงบการเงินของซิตี้กรุ๊ป พบว่ามีพอร์ตสินเชื่อ ณ สิ้นปี 2563 ที่ 9.5 หมื่นล้านบาท เทียบเป็น 5% ของพอร์ตสินเชื่อของ KBANK และมีกำไรสุทธิที่ 1.6 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 4% ของประมาณการกำไรสุทธิ KBANK ปี 2564 โดยคุณภาพสินทรัพย์ของพอร์ตซิตี้กรุ๊ป ค่อนข้างแกร่ง พบว่ามี NPL ratio ณ สิ้นปี 2563 อยู่เพียง 1.8% และมี Coverage ratio ที่ 293%

 

โดยแนะนำซื้อหุ้น KBANK ให้ราคาเป้าหมายที่ 175 บาทต่อหุ้น มองว่ามีความน่าสนใจ เพราะปีที่ผ่านมาจัดการกับคุณภาพสินทรัพย์เข้มงวด และได้ตั้งสำรองล่วงหน้าไปมาก แนวโน้มการเติบโตของรายได้ดีต่อเนื่อง ขณะที่สินเชื่อจะได้ประโยชน์ตรงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่จะฟื้นตัวก่อน และ เอสเอ็มอี และสินเชื่อรายย่อย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง