เครื่องทำปุ๋ยหมักอัจฉริยะ นวัตกรรมวัยรุ่นไนจีเรีย !
กลุ่มวัยรุ่นในประเทศไนจีเรียที่อยู่ฝั่งแอฟริกาตะวันตก ได้สร้างครื่องทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร โดยเครื่องทำปุ๋ยหมักตัวนี้ไม่ได้เป็นแค่กล่องหมักปุ๋ยทั่วไป เพราะมีทั้งเซนเซอร์และระบบอัตโนมัติสำหรับการจัดการระบบปุ๋ยหมักแบบครบวงจร พร้อมคว้ารางวัลชนะเลิศในรายการคิดส์ อินโนเวชัน ชาเลนจ์ (Kids Innovation Challenge) การแข่งขันสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาที่ต้องเจอทั้งในไนจีเรียและในโลกเมื่อ 5 กันยายนที่ผ่านมา
รายละเอียดเครื่องทำปุ๋ยหมักอัจฉริยะจากไนจีเรีย
เครื่องทำปุ๋ยหมักอัจฉริยะเป็นผลงานของกลุ่ม GTC โดยตัวเครื่องนั้นเป็นการนำถังมาติดตั้งระบบเซนเซอร์ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน พร้อมประสานการทำงานของอุปกรณ์ผ่านระบบแผงควบคุมวงจร IC ขนาดเล็ก (IC Microcontroller) ที่เรียกว่า อาดุยโน (Arduino) เพื่อรับข้อมูล และสั่งการการทำงานของตัวเครื่อง
ด้านบนของเครื่องทำปุ๋ยหมักอัจฉริยะจะมีช่องสำหรับใส่เศษอาหารพร้อมแกนหมุน (Roter) เพื่อหมุนดึงเศษอาหารลงข้างล่างตัวถังซึ่งเป็นส่วนของที่หมักปุ๋ยคล้ายกับถังหมักปุ๋ยทั่วไป แต่ที่แตกต่างก็คือภายในจะมีเซนเซอร์วัดอุณหภูมิ ความชื้น แบบเรียลไทม์ พร้อมตัวคลุกปุ๋ยที่กำลังหมักโดยใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ผ่านแผงโซลาร์เซลล์ขนาดเล็กที่ติดตั้งด้านหน้าตัวเครื่อง
เครื่องทำปุ๋ยหมักอัจฉริยะสู่การแก้ปัญหาแรงงานในไนจีเรีย
การนำถัง เซนเซอร์ มอเตอร์ และแผงโซลาร์เซลล์ มาประกอบด้วยกันอาจดูไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ไอเดียนี้ได้แก้ปัญหาพื้นฐานอย่างเรื่องของแรงงานที่ต้องเสียเวลามาดูและปุ๋ยหมัก ซึ่งตัวเครื่องจะเข้ามาดูการหมักให้มีประสิทธิภาพและไม่ต้องใช้คนควบคุม พร้อมสามารถสั่งการและดูจากที่อื่นได้ตลอดเวลา
โดยทีม GTC ได้รับรางวัลชนะเลิศในรายการนี้พร้อมรับรางวัลเป็นเงินมูลค่า 200,000 ไนรา หรือประมาณ 9,000 บาท พร้อมคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก และสิทธิ์ในการรับคำปรึกษาเพื่อต่อยอดนวัตกรรมเชิงพาณิชย์เป็นเวลา 1 ปี ซึ่งงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของกองทุนเพื่อโชคชะตา หรือ เดอะ เดสทินี ทรัสต์ (The Destiny Trust) องค์กรไม่แสวงหากำไร (Non-profit Organization: NPO) ที่ตั้งขึ้นในปี 2012 เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเยาวชนในไนจีเรีย
ที่มาข้อมูลและรูปภาพ Technext 24, Reuters