“การอาบป่า” ศาสตร์จากญี่ปุ่น เยียวยากายใจด้วยพลังธรรมชาติ

“การอาบป่า” หรือ Forest Bathing ซึ่งมีต้นกำเนิดจากญี่ปุ่น เรียกว่า “ชินรินโยกุ” (Shinrin-Yoku) แปลตรงตัวว่า “การแช่ตัวในบรรยากาศของป่า”
การอาบป่าไม่ได้หมายถึงการเดินป่าเพื่อออกกำลังกาย หรือการตั้งแคมป์ แต่เป็นการใช้เวลาอยู่ในป่าอย่างมีสติ เช่น ทำอะไรช้าลง ตั้งใจฟังเสียงนก มองใบไม้ไหว สูดกลิ่นดินหอมหลังฝน หายใจลึก ๆ และปล่อยใจให้สงบ เป็นการกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งห้าให้สัมผัส “ความมีชีวิต” ของธรรมชาติอย่างแท้จริง
มีงานวิจัยมากมายสนับสนุนแนวคิดนี้ เช่น การศึกษาจากมหาวิทยาลัยชิบะ ประเทศญี่ปุ่น พบว่าเพียงแค่การมองต้นไม้ 1 ชั่วโมง สามารถเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังสมองส่วนหน้า และช่วยให้ระดับฮอร์โมนแห่งความเครียด (cortisol) ลดลงอย่างชัดเจน
ในป่าธรรมชาติมีสารที่เรียกว่า “ฟัยตอนไซด์ (Phytoncide)” ซึ่งเป็นน้ำมันหอมระเหยจากต้นไม้ที่มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อโรค ต่อต้านเชื้อราและแมลง นักวิจัยพบว่าสารนี้ยังสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ เพิ่ม NK cells หรือเซลล์นักฆ่าธร
ไม่เพียงเท่านั้น การอาบป่ายังช่วยลดอาการซึมเศร้า เพิ่มความคิดสร้างสรรค์ ฟื้นฟูภาวะเหนื่อยล้าเรื้อรัง และช่วยให้นอนหลับดีขึ้นอย่างเห็นผล จึงเหมาะมากกับคนเมืองที่อยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมอุดอู้และเต็มไปด้วยความเครียดในชีวิตประจำวัน
การอนุรักษ์ป่าจึงไม่ใช่แค่เพื่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการรักษาแหล่งพลังชีวิตของมนุษย์ในระยะยาว การส่งเสริมกิจกรรมอย่างการอาบป่า จึงเป็นทั้งแนวทางเพื่อสุขภาวะ และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน