เตือนระวัง! อ้างเป็นบริษัทมหาชน ชวนลงทุนแพลตฟอร์มออนไลน์
วันนี้ (23มี.ค.64) สืบเนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้รับข้อมูลว่า มีกลุ่มบุคคลชักชวนประชาชนทั่วไปให้สมัครแพ็คเกจลงทุน ซึ่งอ้างว่านำไปลงทุนในธุรกิจแพลตฟอร์ม ที่รวบรวมฐานข้อมูลของสมาชิก (Big Data) ทำการเชื่อมต่อการตลาดกับมวลชน และเครือข่ายนักธุรกิจออนไลน์ โดยอ้างว่าบริษัทมีการจดทะเบียนบริษัทที่ต่างประเทศ และเป็นการลงทุนในบริษัทต่างประเทศแถบยุโรป ซึ่งยังไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐในประเทศไทย แต่อย่างใด
ผู้ลงทุนต้องลงทุนแพ็คเกจต่าง ๆ มีตั้งแต่แพ็คเกจลงทุน 99 ยูโร หรือ 4,000 บาท จนถึง 2,499 ยูโร หรือ 120,000 บาท โดยใช้แผนการตลาดแบบไบนารี (Binary) คือ นักลงทุนจะต้องแนะนำให้คนมาร่วมลงทุน จำนวน 4 คน ภายใน 14 วัน จึงจะได้รับโบนัสและผลตอบแทนจากบริษัท ซึ่งสูงถึงหลักล้านบาท โดยปรากฏให้เห็นการชักชวนประชาชนผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ อาทิ เฟซบุ๊ก ไลน์ เป็นต้น เพื่อให้เข้าไปในกลุ่มที่ตั้งขึ้น จากนั้นจะใช้แม่สายหรือแม่ทีม โน้มน้าวชักจูงให้ลงทุนดังกล่าว
กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอแจ้งให้ทราบว่า การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ว่าจะในฐานะศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Dealer) จะต้องมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เท่านั้น และการดำเนินกิจกรรมธุรกิจในลักษณะดังกล่าวยังเข้าข่ายการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ด้วย
ตลอดจนการแนะนำและชักชวนบุคคลทั่วไปให้ลงทุนในหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางในการโฆษณาชักชวนประชาชน เข้าข่ายเป็นการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาท
ทั้งนี้ การประกอบธุรกิจตามที่บริษัทดังกล่าวอ้างข้างต้น กรมสอบสวนคดีพิเศษจะดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจว่ามีลักษณะเข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 หรือไม่ ต่อไป
กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการลงทุนในรูปแบบดังกล่าว โดยควรศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจก่อนเข้าร่วมลงทุน และตรวจสอบหลักฐานการลงทุนซึ่งยืนยันว่า บริษัทที่จะร่วมลงทุนนั้น ได้นำเงินไปลงทุนตามที่ได้กล่าวอ้างจริง
ทั้งนี้ แชร์ลูกโซ่มักมาในรูปแบบของธุรกิจที่ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่น่าสนใจ และโฆษณาชักชวนให้ร่วมลงทุนในระยะสั้น โดยอ้างว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราที่สูง ซึ่งจะใช้วิธีการนำเงินจากผู้ที่เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ ไปจ่ายผลตอบแทนให้สมาชิกเก่า เพื่อให้เห็นว่าธุรกิจสามารถดำเนินการได้จริง ภายหลังที่ระดมทุนได้มากแล้ว ก็จะหยุดดำเนินการและหลบหนีไปพร้อมเงินของผู้เสียหาย ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสียหายลุกลามอย่างรวดเร็ว
หากประชาชนมีข้อมูลหรือเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว หรือมีข้อสงสัย สามารถติดต่อมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษผ่านทางเว็บไซต์ www.dsi.go.th หรือโทรสายด่วน DSI Call Center 1202 (โทร.ฟรีทั่วประเทศ) โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษจะเก็บรักษาข้อมูลผู้แจ้งเบาะแสไว้เป็นความลับ