รีเซต

โดรนพองตัวได้รูปร่างคล้ายนก เทคโนโลยีแห่งอนาคตที่จะมาไขความลับของดาวศุกร์

โดรนพองตัวได้รูปร่างคล้ายนก เทคโนโลยีแห่งอนาคตที่จะมาไขความลับของดาวศุกร์
TNN ช่อง16
2 มีนาคม 2565 ( 14:53 )
94

โดรนพองตัวได้รูปร่างคล้ายนก เป็นแนวคิดที่นำเสนอโดย Javid Bayandor และทีม โดยถูกออกแบบมาจากจุดประสงค์ของนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องการจะสำรวจชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ แต่ดาวศุกร์นั้นเป็นดาวเคราะห์หินที่ชั้นบรรยากาศหนาแน่นมาก ๆ และเต็มไปด้วยก๊าซเรือนกระจก หรือจะกล่าวว่าดาวศุกร์มีสภาพแวดล้อมแบบสุดโต่งก็ได้ ซึ่งชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์แตกต่างกับชั้นบรรยากาศของโลกอยู่มาก อากาศยานที่จะนำไปใช้ในการสำรวจชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์จึงจำเป็นต้องถูกออกแบบมาเพื่อบินในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์โดยเฉพาะ เหมือน Ingenuity เฮลิคอปเตอร์หุ่นยนต์ขนาดเล็กที่ถูกออกแบบมาให้บินบนดาวอังคารโดยเฉพาะ


แนวคิดเรื่องโดรนพองตัวได้รูปร่างคล้ายนกได้รับคัดเลือกให้เข้าไปเป็นทีมในเฟสแรกโดย NASA Innovative Advanced Concepts (NIAC) หรือ โปรแกรมขององค์การนาซ่าเพื่อการพัฒนาแนวคิดขั้นสูง เป็นโปรแกรมที่จะมาสนับสนุนการสร้างและพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะสามารถสนับสนุนการบินและภารกิจสำรวจอวกาศในอนาคต เพื่อเปลี่ยนสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ โดยถูกจัดตั้งขึ้นในปี 1998 และหยุดชะงักไปหลังปี 2007 ก่อนจะกลับมาอีกครั้งในปี 2011 และดำเนินการสนับสนุนแนวคิดในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ มาจนถึงปัจจุบัน


โดยการสนับสนุนของโปรแกรม NIAC จะแบ่งออกเป็น 2 เฟสด้วยกัน ทีมที่ผ่านการคัดเลือกให้ไปอยู่ในเฟสแรกจะได้รับเงินสนับสนุน 175,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5,700,00 บาท) สำหรับการศึกษาและพัฒนานวัตกรรมนั้น ๆ ในระยะเวลา 9 เดือน หลังจากนั้นจะถูกนำมาคัดเลือกอีกครั้งว่าทีมในเฟสแรกจะผ่านเข้าเป็นทีมในเฟสที่ 2 หรือไม่ โดยทีมที่ผ่านเข้าเฟสที่ 2 จะได้รับเงินสนับสนุน 600,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 19,600,00 บาท) สำหรับการศึกษาและพัฒนานวัตกรรมนั้น ๆ ในระยะเวลา 2 ปี


โดย Javid Bayandor และทีม วางแผนไว้ว่าในเฟสแรกนี้ พวกเขาจะพัฒนาโดรนพองตัวได้รูปร่างคล้ายนกในด้านของความสามารถในการทนต่อความดันอากาศ ความเสถียรในการบิน พลศาสตร์การบิน และออกแบบส่วนประกอบที่ทำให้พองตัวได้ของโดรน หากแนวคิดนี้ถูกพัฒนาจนสำเร็จ มนุษยชาติคงจะสามารถไขความลับของดาวศุกร์ได้บ้างไม่มากก็น้อย


ข้อมูลจาก interestingengineering.com และ nasa.gov

ภาพจาก nasa.gov

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง