รีเซต

“เอกนัฎ” เสนอโมเดล “นิคมอุตสาหกรรม SME” ชี้ทางเลือกเข้าถึงกำลังการผลิตขั้นสูงด้วยต้นทุนที่ต่ำลง !

“เอกนัฎ” เสนอโมเดล “นิคมอุตสาหกรรม SME” ชี้ทางเลือกเข้าถึงกำลังการผลิตขั้นสูงด้วยต้นทุนที่ต่ำลง !
TNN ช่อง16
1 พฤษภาคม 2568 ( 14:49 )
8

นายเอกนัฎ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เสนอแนวคิดการสร้าง “นิคมอุตสาหกรรม SME” เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กไปพร้อมกับการสร้างตลาดที่เข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพ บนเวทีเสวนา ทางรอดอุตสาหกรรมไทยในสมรภูมิรบการค้าโลก ภายในงาน “ภารกิจพลิกฟื้นเศรษฐกิจ: Mission Thailand” ซึ่งจัดโดยสถานีข่าว TNN

ประเด็นสำคัญ

  1. ที่มาของแนวคิดนิคมอุตสาหกรรม SME จาก Supply Chain สู่แหล่งรวมการผลิต
  2. ลักษณะแนวคิดนิคมอุตสาหกรรม SME ที่ยิงปืนนัดเดียวได้นกมากกว่า 2 ตัว
  3. นิคมอุตสาหกรรม SME กับการใช้พลังงานสะอาด ลดต้นทุนและรักษ์โลกไปพร้อมกัน

ที่มาของแนวคิดนิคมอุตสาหกรรม SME

นายเอกนัฎ เปิดเผยแนวคิดหรือโมเดลนิคมอุตสาหกรรม SME เป็นครั้งแรก หลังจากที่ ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย ผู้ร่วมเสวนา ได้สอบถามว่ากระทรวงอุตสาหกรรมมีแนวทางดูแลและสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอี (Small or Midsize Enterprise: SME) ในประเทศไทยอย่างไรบ้าง

ปัจจุบัน ลักษณะธุรกิจ SME จำนวนไม่น้อยในไทยนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตสินค้าหรือบริการในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ให้กับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในประเทศ ซึ่งเป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้ SME ยืนอยู่ได้ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจในอดีต

อย่างไรก็ตาม นายเอกนัฎ มองว่า จุดแข็งดังกล่าวอาจไม่ตอบสนองต่อความท้าทายในยุคใหม่ ในฐานะรมว.กระทรวงอุตสาหกรรม จึงต้องหาแนวทางที่จะสร้างจุดแข็งเพิ่มเติมให้กับธุรกิจ SME ในไทย ซึ่งทำให้เกิดแนวคิดนิคมอุตสาหกรรม SME ขึ้นมา 

ลักษณะแนวคิดนิคมอุตสาหกรรม SME

แนวคิดดังกล่าวเป็นความต้องการลดต้นทุนการผลิตที่เป็นทุนจม (Sunk cost - retrospective cost) เช่น การซื้อเครื่องจักรในการผลิตขนาดใหญ่ การสร้างโรงงาน ซึ่งเป็นอุปสรรคที่ทำให้ SME ไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มที่ 

ซึ่งนิคมอุตสาหกรรม SME จะเป็นการรวมศูนย์พื้นที่การผลิต ทำให้ผู้ประกอบการใกล้ลูกค้า สามารถเข้าถึงเครื่องจักรขนาดใหญ่ หรือส่วนขับเคลื่อนการผลิต (Facility) อื่น ๆ ได้ง่ายมากขึ้นและมีต้นทุนที่ต่ำลง 

นอกจากนี้ นายเอกนัฎ เชื่อว่า แนวคิดดังกล่าวจะเป็นโอกาสในการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมหนักหรือโรงงานขนาดใหญ่ในพื้นที่รอบกรุงเทพฯ ด้วยการขายพื้นที่เดิมที่อาจจะไม่มีโอกาสในการแข่งขันแล้ว เพื่อปรับเปลี่ยนมาเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม SME แทนในพื้นที่ใหม่ที่มีโอกาสมากกว่า ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ SME เข้าถึงเครื่องมือการผลิต ยังช่วยให้ได้จุดทำเลยุทธศาสตร์ในการขนส่งสินค้าไปยังลูกค้าทั้งค้าปลีก หรือการค้าส่งในระบบ Supply Chain ซึ่งใกล้กับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ที่รัฐจะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศไปตั้งฐานการผลิต รวมไปถึงยังทำให้ลดมลพิษรอบเมืองหลวงได้อีกด้วย

นิคมอุตสาหกรรม SME กับการใช้พลังงานสะอาด

และเพื่อสนับสนุนแนวคิดนิคมอุตสาหกรรม SME นายเอกนัฎยังได้ผลักดันการแก้ไขกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่ใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เพื่อให้ SME สามารถเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้ง่ายขึ้น ลดความยุ่งยากในการติดต่อหน่วยงานราชการ

การแก้กฏหมายยังมาพร้อมการสนับสนุนเงินทุนในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) รวมไปถึงกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งปล่อยสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยให้สามารถนำไปติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ 

“ปรากฏว่า เงินที่เอาไปผ่อนจ่ายถูกกว่าค่าไฟอีก เดิมทีต้องเสียค่าไฟทีละ 30,000  - 40,000 บาท อันนี้ผ่อนจ่ายแค่ 7,000 -  8,000 ลดต้นทุนการผลิต แถมสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด” ซึ่งนายเอกนัฎมองว่าความสามารถในการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในไทยยังมีช่องว่างอีกมาก

ด้าน ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา แสดงความเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว และเห็นได้ชัดว่ามีหลายเรื่องที่จับต้องได้ อย่างเช่น การใช้และผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ อย่างไรก็ตาม ดร.วิศิษฐ์ได้ฝากรมว.อุตสาหกรรมในการผลักดันการนำพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มาใช้ในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งมีอุปสรรคสำคัญคือแบตเตอรี่ที่มีต้นทุนสูงในอนาคต

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง