ล้างสารพิษในดินและน้ำใต้ดินด้วยเทคโนโลยีจากนาซา
สูตรเหล็กอิมัลซิไฟเออร์ซีโร่วาเลนต์ (EZVI, Emulsified Zero-Valent Iron) หนึ่งในเรื่องราวความสำเร็จที่กว้างขวางที่สุดของหน่วยงานนาซา สปินออฟ (NASA Spinoff) สร้างขึ้นครั้งแรกในปี 2002 เพื่อทำลายการปนเปื้อนสารเคมีที่หลงเหลือจากโครงการอวกาศในช่วงแรก ๆ ซึ่งสูตรเคมีดังกล่าวสามารถล้างสารพิษได้ทั้งในดินและในน้ำ
สารพิษในดินและน้ำใต้ดินส่วนมากที่ก่อให้เกิดปัญหามักละลายได้เพียงเล็กน้อยในน้ำและหนักจึงยากต่อการกำจัด สูตรเหล็กอิมัลซิไฟเออร์ซีโร่วาเลนต์เป็นส่วนผสมของน้ำมันพืช น้ำและอนุภาคเหล็ก โดยน้ำมันพืชจะดึงดูดสารเคมีที่ไม่ชอบน้ำเข้าหาตัวเอง การไล่ระดับความเข้มข้นจะผลักสารพิษจากน้ำมันไปหาน้ำ ส่วนเหล็กมีหน้าที่กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาย่อยสลาย
เริ่มแรกสูตรเหล็กอิมัลซิไฟเออร์ซีโร่วาเลนต์ถูกพัฒนาขึ้นโดยแจ็กกี้ ควินน์ (Jackie Quinn) และแคทเทอรีน ลอฟลิน (Kathleen Loftin) นักเคมีวิเคราะห์ของนาซา โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเซ็นทรัลฟลอริดา (University of Central Florida) เพื่อนำมาใช้ฟื้นฟูระบบนิเวศบริเวณฐานปล่อยจรวด โดยเฉพาะฐานปล่อยจรวดที่ 34 ศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) ที่มีตัวทำละลายคลอรีนหลายพันแกลลอนซึ่งใช้ทำความสะอาดส่วนประกอบเครื่องยนต์จรวดแช่อยู่ในพื้นดินระหว่างโครงการอพอลโล ภายหลังจากนำมาใช้จริงพบว่าการปนเปื้อนลดลงอย่างมากภายในเวลาไม่กี่เดือน
ไม่เพียงแต่ถูกนำมาใช้บริเวณฐานปล่อยจรวดและฐานทัพอากาศเท่านั้น สูตรเหล็กอิมัลซิไฟเออร์ซีโร่วาเลนต์ยังถูกนำไปฟื้นฟูเมืองลิฟวิงสตัน รัฐหลุยเซียนาที่เคยเกิดเหตุการณ์รถไฟตกรางในปี 1982 เสียงระเบิดและไฟที่โหมกระหน่ำทำให้ประชาชนตื่นขึ้น แต่สิ่งที่เหตุการณ์นี้ทิ้งไว้คือสารเคมีที่เป็นพิษหลายพันแกลลอนที่ซึมซาบลงไปในดินและน้ำใต้ดิน แม้จะใช้เงินไปหลายล้านดอลลาร์และเวลามากกว่า 30 ปี แต่สารเคมีที่เป็นพิษยังคงอยู่ในระดับที่สูงพอที่จะทำให้พื้นที่นั้นอยู่ในรายชื่อของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตลอดกาล จนกระทั่งในปี 2013 ที่ได้มีการนำสูตรเหล็กอิมัลซิไฟเออร์ซีโร่วาเลนต์ไปใช้
ข้อมูลและภาพจาก spinoff.nasa.gov