รีเซต

ยลโฉมกล้องดิจิทัลใหญ่ที่สุดในโลก ส่องเห็นแม้ฝุ่นดวงจันทร์

ยลโฉมกล้องดิจิทัลใหญ่ที่สุดในโลก ส่องเห็นแม้ฝุ่นดวงจันทร์
TNN ช่อง16
17 ตุลาคม 2565 ( 10:09 )
62
ยลโฉมกล้องดิจิทัลใหญ่ที่สุดในโลก ส่องเห็นแม้ฝุ่นดวงจันทร์

หลังจากเริ่มต้นโครงการเมื่อ 3 ปีก่อน ล่าสุดมีข่าวดีว่า ศูนย์ปฏิบัติการวิทยาศาสตร์แห่งชาติสแลก (SLAC - National Accelerator Laboratory) ของมหาวิทยาลัยสแตมฟอร์ดในสหรัฐฯ กำลังติดตั้งกล้องดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดที่ถูกติดตั้งบนพื้นโลก และใกล้จะเปิดใช้งานเต็มรูปแบบในไม่กี่เดือนนี้ 


สำหรับเจ้ากล้องโทรทรรศน์สำรวจภาพรวมขนาดใหญ่ หรือ Large Synoptic Survey Telescope - LSST ตัวนี้ ชื่อว่า เวรา ซี. รูบิน แอลเอสเอสที (Vera C. Rubin LSST) โดยถูกตั้งชื่อตามนักวิทยาศาสตร์ เวรา ซี. รูบิน ผู้ที่นิยามคำว่าสสารมืด หรือ Dark Matter 


ด้วยสเปกที่เป็นกล้องดิจิตอลขนาดมหึมาหนักถึง 2.8 ตัน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกว้างถึง 1.57 เมตร ยาว 3.73 เมตร เลนส์ที่จะใช้งานจึงเป็นเลนส์ขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยสร้างมาอีกเช่นกัน


ที่มาของรูปภาพ SLAC Stanford University


นอกจากนั้น กล้องแอลเอสเอสทีประกอบไปด้วยเซนเซอร์แบบ CCD ขนาด 16 มิลลิเมตร จำนวนถึง 189 ชิ้น ทำหน้าที่รับแสงและเปลี่ยนค่าแสงเป็นสัญญาณอนาล็อก เพื่อแปลงกลับไปเป็นสัญญาณดิจิทัล และมีขนาดเซนเซอร์คำนวณได้ถึง 3,200 เมกะพิกเซล (Megapixel) หรือ 3.2 กิกะพิกเซล (Gigapixel) จึงกล่าวได้ว่า นี่เป็นกล้องดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในโลกเท่าที่เคยมีมาก็ว่าได้ 


นักวิทยาศาสตร์ยังระบุว่า แอลเอสเอสที สามารถจับเสี้ยวของแสงดวงดาวและวัตถุอวกาศอื่น ๆ เพื่อประมวลผลออกมาเป็นภาพถ่ายดิจิทัลได้ และด้วยขนาดพิกเซลมหาศาลเช่นนี้ มันยังสามารถถ่ายภาพที่มีความละเอียดพอที่จะเห็นอนุภาคฝุ่นของดวงจันทร์อีกด้วย หรือสามารถมองเห็นลูกกอล์ฟได้จากระยะห่าง 24 กิโลเมตร


สำหรับความยากลำบากในการประกอบกล้องตัวนี้ วินเซนต์ ริออต (Vincent Riot) ผู้จัดการโครงการแอลเอสเอสที กล่าวว่า เซนเซอร์แต่ละตัวของกล้องมีราคาแพงมาก โดยกล้องตัวนี้มีมูลค่าประเมินในปี 2019 ถึง 168 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 6,400 ล้านบาท และหากจัดวางเซนเซอร์ไม่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดความเสียหายโดยง่าย ดังนั้นการประกอบเซนเซอร์เข้าด้วยกันจึงเหมือนกับการจอดรถยนต์ลัมโบร์กีนี (Lamborghini) ห่างกันเพียงไม่กี่มิลลิเมตร 


 ที่มาของรูปภาพ SLAC Stanford University


ทั้งนี้ ก่อนช่วงสิ้นปี จะมีการอัพเกรดกล้อง LSST ครั้งสุดท้าย ด้วยการติดตั้งระบบระบายความร้อนแบบใหม่ล่าสุด จากนั้นกล้องจะพร้อมทำงาน ก่อนจะถูกส่งไปติดตั้งที่หอดูดาวบนยอดเขา เอล เปนญอน (El Penon) ของภูเขา เซโร ปาชอน (Cerro Pachón) ทางตอนเหนือของชิลี ในช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2023 โดยกล้องแอลเอสเอสที จะทำหน้าที่ในศูนย์สำรวจอวกาศและเวลา (Legacy Survey of Space and Time) โดยทำหน้าที่สำรวจสสารมืด และต้นกำเนิดของจักรวาล พร้อม ๆ กับศึกษาระบบสุริยจักรวาล กาแล็กซีทางช้างเผือก รวมถึงวัตถุต่าง ๆ ที่ปรากฎในจักรวาลอีกด้วย


ที่มาของข้อมูล interestingengineering.com 

ที่มาของรูปภาพ SLAC Stanford University





ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง