รีเซต

วอร์รูมพณ.ถกสู้ของแพงวันนี้ ฉุดไม่อยู่มะนาวพุ่งลูกละ 6 บาท รบ.หั่นภาษีดีเซลเหลือ 0%

วอร์รูมพณ.ถกสู้ของแพงวันนี้ ฉุดไม่อยู่มะนาวพุ่งลูกละ 6 บาท รบ.หั่นภาษีดีเซลเหลือ 0%
มติชน
9 มีนาคม 2565 ( 07:18 )
55

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ถึงข้อสั่งการและคำปรารภของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า นายกฯสั่งเตรียมความพร้อมรับมือวิกฤตด้านพลังงานจากผลกระทบสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น

 

“นายกฯสั่งการให้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารให้เหมาะสม พร้อมช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลสินค้าอุปโภคและบริโภค นอกจากนี้ นายกฯยังให้รณรงค์การประหยัดพลังงานเป็นวาระสำคัญของรัฐบาล เพื่อร่วมกันฝ่าวิกฤตพลังงาน โดยให้ส่วนราชการลดการใช้พลังงานร้อยละ 20 ลดการใช้น้ำมันร้อยละ 10 และหาวิธีประหยัดพลังงานแบบง่าย เช่น ส่งเสริมการทำงานที่บ้าน” นายธนกรกล่าว

 

สั่งดูแลค่า‘น้ำ-ไฟ’ช่วยคนจน

รายงานข่าวแจ้งว่า ในช่วงต้นการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ ได้พูดถึงมาตรการลดค่าครองชีพประชาชนว่า ให้ดูแลค่าน้ำ ค่าไฟ ให้แก่คนยากจนและผู้มีรายได้น้อย โดยในวันที่ 9 มีนาคม หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะเป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการที่ออกมา

 

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงราคาน้ำมันที่ขึ้นมากในช่วงนี้ว่า การทำให้ราคาน้ำมันดีเซลต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตรเป็นเรื่องยาก และใช้งบประมาณมหาศาล แต่อย่างไรก็ต้องช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ลดค่าครองชีพ เพราะในอนาคตสินค้าอุปโภคบริโภคก็ต้องขึ้นอยู่แล้ว

 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน ผ่านค่าน้ำ-ค่าไฟ เบื้องต้นจะช่วยเหลือกลุ่มผู้เปาะบางเป็นหลัก ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ส่วนกลุ่มอื่นยังอยู่ระหว่างพิจารณา

 

เครียดขอปชช.ช่วยประหยัด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการประชุม ครม.เแล้วเสร็จ พล.อ.ประยุทธ์เรียกประชุมนอกรอบ โดยมีรองนายกฯและรัฐมนตรีบางคน หัวหน้าส่วนราชการ และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ร่วมประชุม เป็นการติดตามสถานการณ์และเตรียมการรับมือผลกระทบจากการสู้รบระหว่างยูเครน-รัสเซีย พร้อมหามาตรการช่วยผลกระทบกับประชาชน โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ใช้เวลาหารือประมาณ 1 ชั่วโมง


จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนด้วยสีหน้าเคร่งเครียดว่า หลายๆ มาตรการจะต้องเตรียมการไว้ล่วงหน้า ปัจจุบันก็เริ่มเดือดร้อนแล้ว โดยเฉพาะก๊าซ น้ำมัน ซึ่งเราใช้เงินไปพอสมควรกับตรงนี้ เพื่อรักษาระดับราคาให้อยู่ในเกณฑ์ 30 บาทต่อลิตรสำหรับดีเซลในช่วงที่ผ่านมา แต่ตอนนี้ราคาสูงมากขึ้นทุกวัน เราจะทำอะไรต่อไปต้องเตรียมการ

 

“ขอความร่วมมือให้พวกเราช่วยกัน คือใช้พลังงานอย่างประหยัด เรื่องการใช้รถยนต์ ผมไม่ได้ห้ามใช้นะ ใครใช้ได้ก็ใช้ ใครที่ไม่จำเป็นก็ลดลง แอร์ก็ล้างที่บ้านสักหน่อย เปิด-ปิดไฟเป็นเวลาสักหน่อย การทำงานทางวิดีโอบ้าง เวิร์กฟรอมโฮมบ้าง เพื่อลดค่าใช้จ่ายตัวเองลง ผมขอได้แค่นั้น ส่วนที่เหลือรัฐบาลก็ต้องหามาตรการมาดูแลตรงนี้ การใช้มาตรการต่างๆ ก็ต้องใช้เงินทั้งสิ้น เฉพาะราคาน้ำมันอย่างเดียวใช้เงินประมาณวันละ 600 ล้านบาท ในการดูแลราคาน้ำมันดีเซลอย่างเดียว ลองคิดดูแล้วกันถ้ามันขึ้นอย่างนี้ทุกวันเราจะใช้เงินวันละเท่าไหร่” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ลดภาษีดีเซล0%ปั่นไฟแทนก๊าซ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาตรการทางภาษีสรรพสามิต 0% สำหรับการนำน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาไปผลิตไฟฟ้า ช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟ โดยรัฐบาลมีแผนปรับใช้น้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซธรรมชาติที่ราคาสูง จากปัจจุบันน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตา มีภาษีสรรพสามิต 3.44 บาทต่อลิตร และ 0.64 บาทต่อลิตรตามลำดับ จะมีผลใช้หลังวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 15 กันยายน 2565 รวม 6 เดือน ช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลง 1-1.50 บาทต่อหน่วยส่งผลดีต่อค่าอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ไม่ให้ปรับเพิ่มขึ้นสูง

นายอาคมกล่าวว่า การลดภาษีน้ำมันดีเซล บี0 และน้ำมันเตา สำหรับผลิตไฟฟ้าเหลือศูนย์ ไม่กระทบต่อรายได้กรมสรรพสามิต เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีรายได้จากภาษีทั้ง 2 ชนิด คาดหลังโรงฟ้าหันมาใช้เชื้อเพลิง 2 ชนิด จะทำให้มีการนำเข้าน้ำมันดีเซลเพิ่ม 200 ล้านลิตรต่อเดือน และน้ำมันเตาเพิ่ม 35 ล้านลิตรต่อเดือน คิดเป็นรายได้จากภาษี 7 พันล้านบาท แต่รัฐไม่เก็บรายได้ส่วนนี้เพื่อลดต้นทุนผลิตไฟฟ้า

หวั่นสงครามกดจีดีพีหลุด4%

นายอาคมกล่าวว่า สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน พร้อมหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ซึ่ง สศค.ประเมินตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2565 ในกรอบ 3.5-4.5% หรือค่ากลางที่ 4% หากการเติบโตลดลงแต่ยังอยู่ในกรอบที่วางไว้ ถือว่ายอมรับได้ แต่หากลงมาที่ขอบล่าง อาจหลุดกรอบได้

“หากจีดีพีขยับลงมาแต่ยังอยู่ในกรอบล่าง 3.5% ยังยอมรับได้ แต่อยากได้ 4% ในค่ากลาง ต้องรอประเมินสถานการณ์ก่อน โดยเฉพาะส่งออก ซึ่งไทยส่งไปรัสเซีย 3.2 หมื่นล้านบาท ไม่ถึง 1% ของมูลค่าการส่งออกในภาพรวม” นายอาคมกล่าวและว่า ทุกประเทศได้รับผลกระทบหมด โดยเฉพาะเรื่องราคาพลังงานอาจกระทบการบริโภคภายในประเทศให้ชะลอตัวบ้าง ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวปีนี้ตั้งเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติ 7 ล้านคน อาจจะกระทบด้วย ซึ่งผลกระทบจะมากน้อยแค่ไหน ต้องรอประเมินจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง

วอร์รูมพณ.นัดถกราคาสินค้า

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์และในฐานะประธานคณะทำงานติดตามสถานการณ์ราคาสินค้า (วอร์รูม) กล่าวว่า วันที่ 9 มีนาคม จะมีการประชุมวอร์รูมเพื่อติดตามประเมินสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีผลกระทบต่อต้นทุนวัตถุดิบนำเข้า อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันปาล์ม แป้งสาลี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปุ๋ยเคมี เพื่อติดตามแนวโน้นราคาสินค้ากลุ่มนี้ และนำผลการหารือรายงานให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รับทราบ ทั้งนี้ ต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริง หากต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้นมากอาจจะขอให้ภาคเอกชนนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศอื่นทดแทน หรือให้ลดต้นทุนของธุรกิจไปก่อน เพื่อไม่ต้องปรับราคาจำหน่ายในประเทศ

“กระทรวงพาณิชย์ทราบดีถึงต้นทุนที่สูงขึ้น แต่หากปรับราคาขึ้นทันทีจะสร้างความเดือดร้อนต่อผู้บริโภค แต่หากไม่ให้ปรับขึ้นธุรกิจอาจจะไปต่อไปไหว ดังนั้น จะพิจารณาให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ดูราคาให้เหมาะสมเพื่อให้ผู้ค้า ผู้ขาย และผู้บริโภคอยู่ร่วมกันได้” นายบุณยฤทธิ์กล่าว และว่า ที่ผ่านมา กรมการค้าภายในได้หารือกับสมาคมอาหารสัตว์ โดยขอความร่วมมือตรึงราคาสินค้าไปก่อน แต่หากแบกต้นทุนไม่ไหวให้นำเสนอต่อกรมอีกครั้งเพื่อทบทวนราคาสินค้าให้ แต่ตอนนี้ยังไม่อนุมัติให้ขึ้นราคาแต่อย่างใด

ยังไม่อนุมัติให้ขึ้นราคาสินค้า

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า จากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้กลุ่มสินค้าวัตถุดิบมีแนวโน้นสูงขึ้น อาทิ น้ำมันปาล์ม แป้งสาลี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปุ๋ย ล่าสุดมีผู้ผลิตกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบ อาทิ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ผู้ผลิตปุ๋ย ส่งหนังสือมาหารือกับกรมการค้าภายสอบถามว่าจะเปิดทางให้ปรับราคาสินค้าภายในประเทศได้หรือไม่ แต่กรมยังไม่อนุมัติให้ขึ้นราคา โดยขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนนี้ไปก่อนเพื่อไม่ให้กระทบกับผู้บริโภคมากจนเกินไป

“ขอให้ผู้ผลิตบริหารต้นทุน ปรับลดส่วนที่ไม่จำเป็น อาจกำไรน้อยหน่อย เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค และอีกมุมหนึ่งหากปรับขึ้นสินค้าไปมาก อาทิ ปุ๋ย เมื่อราคาแพงเกษตรกรจะหันไปใช้ปุ๋ยอื่น หรือไม่ใส่ปุ๋ยเลย จะทำให้ปุ๋ยจะขายไม่ได้ เกิดผลกระทบรุนแรงกว่า” นายวัฒนศักดิ์กล่าว และว่า กรณีผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขอปรับขึ้นราคาต่อกล่อง (30 ซอง) อย่างน้อย 2 บาทกับผู้ค้าส่งช่วงต้นเดือนเมษายนนี้ เป็นการปรับระหว่างผู้ผลิตและผู้ค้าส่งเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับร้านค้าปลีกรายย่อยที่ยังจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซองละ 6 บาทเท่าเดิม และก่อนหน้านี้ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายใหญ่ได้ย้ำกับกระทรวงพาณิชย์แล้วว่าจะไม่มีการปรับราคา แม้ว่าต้นทุนขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบ ต่อผู้บริโภค สำหรับราคามะนาวที่สูงขึ้น เป็นการขึ้นตามฤด กาล ในช่วงฤดูร้อนมะนาวจะออกน้อย

ร้านส้มตำบ่นอุบมะนาวแพง

จ.นครปฐม ผู้สื่อข่าวสำรวจราคามะนาวที่ตลาดสดทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หรือ “ตลาดบน” ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง พบว่า มะนาวแป้นบ้านแพ้ว หรือมะนาวแป้นรำไพ ราคาสูงถึงกิโลกรัม (กก.) ละ 110-120 บาท ทำให้ลูกค้าประจำ เช่น ร้านอาหาร ร้านส้มตำ ลดปริมาณการซื้อลง และหันไปใช้น้ำมะนาวขวดแทน
แม่ค้าส้มตำซาเล้งกล่าวว่า ช่วงนี้ต้องหันมาพึ่งน้ำมะนาวขวดแทนมะนาวสด เพราะมะนาวราคาแพงมาก ลูกละ 6-7 บาท รับไม่ไหว ขายส้มตำครกละ 30 บาท เจอค่ามะนาวไปครกละ 10 บาทกว่าขาดทุนแน่นอน แต่เราปรุงให้กลมกล่อมฝานมะนาวสดลงไปปนในครกให้มีกลิ่นเปลือกมะนาวแทน นอกจากนี น้ำมันก็แพงขึ้น ขี่ซาเล้งขายส้มตำก็ต้องเสียค่าน้ำมันเชื้อเพิ่มอีก

แม่ค้าส้มตำรายหนึ่งที่ขายออนไลน์กล่าวว่า ราคามะนาวแพงมาก และที่ร้านไม่ใช้มะนาวขวด ทำให้ต้นทุนต่อครกเพิ่มขึ้นครกละ 10 บาท แต่ขายราคาเดิม ทุกวันนี้ใช้มะนาววันละ 10 กก. ราคา กก.ละ 110 บาท ต้องจ่ายค่ามะนาวถึง 1,100 บาท แต่ก็ต้องทน เพราะหากไม่ใช้มะนาวสดลูกค้ากินรู้ จะเสียลูกค้า ดังนั้น ยอมเสียเงินเพิ่ม กำไรน้อยหน่อยช่วงนี้

‘อีคอนไทย’จี้รบ.เร่งช่วยคนจน

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวว่า ปัญหาราคาสินค้ารวมถึงราคาพลังงานที่แพงขึ้น ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องออกมาตรการช่วยเหลือประชาชน เพื่อแก้ไขสถานการณ์ในเบื้องต้นก่อน และควรเป็นมาตรการช่วยเหลือที่ตรงจุด อาทิ ช่วยเติมเงินทุนให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ช่วยเหลือเรื่องกับดักหนี้ครัวเรือนสูง โดยรัฐต้องเข้ามาดูว่าจะแก้ไขอย่างไร หรือปรับโครงสร้างหนี้และเติมเงินใหม่เข้าไป ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลควรเติมวงเงินจริงๆ เข้าไป อาทิ มุ่งเป้าช่วยเหลือกลุ่มที่มีรายได้น้อยที่มีชื่ออยู่ในระบบกว่า 12-13 ล้านคน โดยให้คูปองเงินสด หรือเติมเงินเข้ากระเป๋า เพื่อให้คนกลุ่มนี้มีเงินใช้จ่ายมากขึ้นจากเดิมที่มีแค่โครงการคนละครึ่ง

“สถานการณ์เช่นนี้ รัฐบาลควรเร่งช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก่อน ตอนนี้ปัญหาปากท้องเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ที่รัฐจะต้องรีบแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน” นายธนิตกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง