รีเซต

“หญ้าดอกขาว มะนาว ฝังเข็ม” ศาสตร์การแพทย์แผนไทยและจีน ทางเลือกอยากเลิกสูบบุหรี่

“หญ้าดอกขาว มะนาว ฝังเข็ม” ศาสตร์การแพทย์แผนไทยและจีน ทางเลือกอยากเลิกสูบบุหรี่
TNN ช่อง16
30 พฤษภาคม 2567 ( 12:37 )
19

นายแพทย์ขวัญชัย  วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก เนื่องจากการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยของกลุ่มโรคทางระบบทางเดินหายใจและระบบหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นโรคที่รักษาค่อนข้างยาก หากไม่มีการเลิกสูบบุหรี่ อาจทำให้เกิด โรคดังกล่าว และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้


ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย แนะนำ สมุนไพรหญ้าดอกขาว ซึ่งมีสาระสำคัญที่ทำให้ลิ้นชา หรือลิ้นฝาด ช่วยให้ความรู้สึกอยากสูบบุหรี่ลดลง ปัจจุบันหญ้าดอกขาวถูกบรรจุเป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ รูปแบบชาชง ในส่วนวิธีใช้ ให้นำหญ้าดอกขาวแห้งปริมาณ 2 กรัม ต่อ น้ำร้อน 120 - 200   มิลลิลิตร แช่ไว้ 10 นาที ดื่มหลังอาหาร วันละ 3 - 4 ครั้ง 


ข้อควรระวังในการใช้ คือ ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคหัวใจ และโรคไต เพราะหญ้าดอกขาวมีโพแทสเซียมสูงและอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยานี้ คือ อาการปากแห้ง คอแห้ง สำหรับสมุนไพรอีก 1 ชนิดที่นิยมนำมาใช้ในกรณีอยากบุหรี่ คือ มะนาว โดยหั่นมะนาวทั้งเปลือกเป็นชิ้นๆ พอดีคำ นำมารับประทานเมื่อมีความรู้สึกอยากสูบบุหรี่ โดยสารสำคัญในมะนาว จะมีผลต่อต่อมรับรสทำให้การรับรสชาติของบุหรี่ผิดปกติไป จนทำให้ไม่รู้สึกอยากสูบบุหรี่


สำหรับ ศาสตร์การแพทย์แผนจีน ที่นิยมนำมาใช้บำบัดรักษาผู้ที่ติดบุหรี่ คือ วิธีการ ฝังเข็ม จากการศึกษาวิจัยพบว่า การฝังเข็มทำให้มีการเพิ่มของสาร serotonin ใน hypothalamus ซึ่งทำให้เลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น ทำให้ระดับการทำงานของสารเคมีในร่างกายเป็นปกติ ลดอาการถอนยา และช่วยลดความต้องการสูบบุหรี่ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสงบและมีสุขภาพดีขึ้น นำไปสู่กระบวนการรักษาขับสารพิษ 


นอกจากนี้ยังมีการฝังเข็มหรือติดเมล็ดหวางปู่หลิวสิงที่ใบหู ซึ่งเป็นเทคนิคหนึ่งในการรักษา โดยมีหลักการว่าอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายจะมีเส้นลมปราณที่ผ่านมายังใบหูและกระจายตามจุดสะท้อนบนใบหู จึงสามารถรักษาโรคต่างๆ ได้ ซึ่งการฝังเข็มหรือติดเมล็ดหวางปู่หลิวสิงที่ใบหูเพื่อเลิกบุหรี่ มีความสัมพันธ์กับการรับรู้รสของผู้ป่วย โดยส่วนใหญ่ จะมีปฏิกิริยาต่อรสชาติของบุหรี่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน โดยรู้สึกว่าบุหรี่ขม จืด หรือไม่มีรสชาติ ทำให้ความอยากในการสูบบุหรี่ลดลงหรือหายไป จนในที่สุดสามารถเลิกบุหรี่ได้ 


นอกจากการรักษาด้วยการฝังเข็มแล้ว ยังมีสมุนไพรจีนบางชนิดที่ช่วยลดความอยากบุหรี่ได้ด้วย เช่น ติงเซียง (กานพลู)  หวีซินเฉ่า (คาวทอง)  และ หยางกานจวี๋ (คาโมมายด์) โดยนำมาชงดื่มเป็นชา ได้อีกด้วย


นายแพทย์ขวัญชัย กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ สามารถติดต่อขอรับบริการ โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คลินิกการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ หรือ สอบถามโดยตรงได้ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขโทรศัพท์ 0 2149 5678 หรือช่องทางออนไลน์ ที่ FACEBOOK กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และ line @ DTAM




ภาพจาก AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง