รีเซต

ไทม์ไลน์ยานอวกาศ Starship จากอดีตจนถึงอนาคต

ไทม์ไลน์ยานอวกาศ Starship จากอดีตจนถึงอนาคต
TNN ช่อง16
16 มีนาคม 2567 ( 12:23 )
51
ไทม์ไลน์ยานอวกาศ Starship จากอดีตจนถึงอนาคต

วันที่ 14 มีนาคม 2024 เป็นการทดสอบปล่อยยานอวกาศสตาร์ชิป (Starship) ของบริษัทสเปซเปซเอ็กซ์ (SpaceX) สู่อวกาศครั้งที่ 3 ซึ่งผลก็คือยานสตาร์ชิปสามารถเดินทางขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ แต่ได้ขาดการติดต่อกับศูนย์ควบคุมขณะยานทำการ Re-Entry ผ่านชั้นบรรยากาศกลับโลก ส่วนจรวดซูเปอร์เฮฟวี่ (Super Heavy) ทิ้งตัวลงบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติก นับเป็นความก้าวหน้าและความสำเร็จครั้งสำคัญของบริษัทหลังการทดสอบ 2 ครั้งที่ผ่านมาในช่วงปี 2023 ประสบความสำเร็จเพียงบางส่วน แต่ทั้งนี้กว่าสเปซเอ็กซ์จะเดินทางมาถึงจุดนี้ ก็ผ่านการพัฒนามาอย่างยาวนาน วันนี้ TNN Tech จึงจะพามาย้อนดูไทม์ไลน์ของการพัฒนายานอวกาศสตาร์ชิปกัน



Timeline ยานอวกาศ Starship ของบริษัท SpaceX

 



2012 จุดเริ่มต้นแนวคิด

แนวคิดเรื่องจรวดที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างสมบูรณ์ ถูกเปิดเผยครั้งแรกในปี 2012 โดยอีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งบริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาจรวดสตาร์ชิปนี้ แต่ในตอนแรกจรวดสตาร์ชิปนี้มีชื่อว่า “มาร์ส โคโลเนียล ทรานส์ปอร์เตอร์ (Mars Colonial Transporter)” เพราะมีเป้าหมายคือการเป็นส่วนหนึ่งในการพามนุษย์ไปตั้งอาณานิคมบนดาวอังคาร หลังจากนั้นโปรเจกต์นี้ก็ผ่านการพัฒนา และทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่า


กันยายน 2016 ประกาศเปิดตัว ITS

อีลอน มัสก์ เปิดตัวระบบขนส่งระหว่างดาวเคราะห์ (Interplanetary Transport System หรือ ITS) ในงานประชุมวิชาการอวกาศนานาชาติ (International Astronautical Congress) ITS เป็นจรวด 2 ชั้นที่มียานอวกาศและบูสเตอร์ เป็นจุดเริ่มต้นเทคโนโลยีที่ในภายหลังถูกนำมาใช้กับสตาร์ชิปด้วย เรียกว่าเป็นบรรพบุรุษของสตาร์ชิปก็ได้ แนวคิดนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อขนส่งมนุษย์ไปยังดาวอังคารโดยใช้ยานอวกาศและบูสเตอร์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้


กรกฎาคม 2017 ประกาศเปิดตัว BFR

สเปซเอ็กซ์อัปเดตการออกแบบ ITS โดยเปลี่ยนชื่อเป็น จรวดฟัลคอนใหญ่ (Big Falcon Rocket หรือ BFR) แนวคิดนี้มียานอวกาศขนาดเล็กอยู่ด้วยชื่อ ยานอวกาศฟัลคอนใหญ่ (Big Falcon Spaceship หรือ BFS) ยานพาหนะทั้ง 2 นี้ ออกแบบมาเพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้เต็มรูปแบบ และสามารถขนส่งสินค้าและผู้โดยสารไปยังวงโคจรโลก ดวงจันทร์ ดาวอังคาร และดาวอื่น ๆ ได้


พฤษภาคม 2018 ประกาศสร้างโรงงาน BFR

สเปซเอ็กซ์ประกาศความตั้งใจที่จะสร้างโรงงานที่ท่าเรือลอสแอนเจลีสเพื่อผลิต BFR และในภายหลังก็ได้เปลี่ยนชื่อ BFR เป็นสตาร์ชิป


กันยายน 2018 เปิดตัวสตาร์ชิปและบูสเตอร์ Super Heavy

อีลอน มัสก์ เปิดเผยการออกแบบล่าสุดของยานอวกาศ ซึ่งตอนนี้มีชื่อว่าสตาร์ชิป และบูสเตอร์ของมันที่เรียกว่าซูเปอร์เฮฟวี่ (Super Heavy) ในงานแถลงข่าวที่เมืองฮอว์ธอร์น รัฐแคลิฟอร์เนีย นอกจากนี้ยังประกาศด้วยว่ามหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่นชื่อ ยูซากุ มาเอซาวะ (Yusaku Maezawa) จะเป็นผู้โดยสารส่วนตัวคนแรกในภารกิจส่งสตาร์ชิปไปดวงจันทร์


มกราคม 2019 ยานทดสอบลำแรก

สเปซเอ็กซ์เสร็จสิ้นการประกอบสตาร์ชิป ฮอปเปอร์ (Starship Hopper) ซึ่งเป็นยานเพื่อทดสอบใต้วงโคจร (Suborbital Test Vehicle) ใช้สำหรับการทดสอบเบื้องต้นของเครื่องยนต์แรปเตอร์ (Raptor) และระบบการบินขึ้น - ลงจอดในแนวดิ่ง


กุมภาพันธ์ 2019 ทดสอบเครื่องยนต์แรปเตอร์

สเปซเอ็กซ์ประสบความสำเร็จในการทดสอบไฟคงที่ครั้งแรกของเครื่องยนต์แรปเตอร์ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญในการนำไปสู่การพัฒนาสตาร์ชิปและซูเปอร์เฮฟวี่


เมษายน 2019 ทดสอบบิน (Test Flights) สตาร์ชิปฮอปเปอร์

ทดสอบการยิงแบบผูกเชือกยานสตาร์ชิปฮอปเปอร์ ตามด้วยการบินทดสอบแบบผูกเชือกซึ่งมีความสูงถึงประมาณ 1 เมตร วัตถุประสงค์ของการทดสอบคือเพื่อประเมินประสิทธิภาพของเครื่องยนต์แรปเตอร์และความสามารถในการบินขึ้นและลงจอดในแนวดิ่งของยาน


กรกฎาคม-สิงหาคม 2019 ทดสอบเที่ยวบิน (Free Flights) สตาร์ชิปฮอปเปอร์

ยานสตาร์ชิปฮอปเปอร์ ทดสอบบินแบบไร้การเชื่อมต่อ 2 เที่ยวสำเร็จ โดยบินได้ที่ระดับความสูง 20 เมตร และ 150 เมตร ตามลำดับ


กันยายน 2019 เปิดตัวยานสตาร์ชิป Mk1 

อีลอน มัสก์ ให้ข้อมูลการอัปเดตเกี่ยวกับการพัฒนายานอวกาศสตาร์ชิป และเปิดตัวต้นแบบ สตาร์ชิป Mk1 ที่โรงงานสเปซเอ็กซ์ รัฐเท็กซัส


2019 - 2020 ทดสอบตัวต้นแบบยานและการพัฒนา

สเปซเอ็กซ์ทดสอบและพัฒนาตัวยานสตาร์ชิปตัวต้นแบบหลายแบบ รวมถึงการทดสอบแรงดัน การยิงสถิต การบินทดสอบระยะสั้น 


มีนาคม 2020 ยกเลิกโรงงาน BFR

สเปซเอ็กซ์ยกเลิกสัญญาเช่ากับท่าเรือลอสแองเจลิส ดังนั้นการผลิตยานอวกาศสตาร์ชิปจึงจะไปดำเนินการที่รัฐเท็กซัส


สิงหาคม 2020 ทดสอบเที่ยวบินยานต้นแบบรุ่น SN5 และ SN6

ยานต้นแบบรุ่น SN5 และ SN6 ขึ้นบินทดสอบระยะสั้น 150 เมตรสำเร็จ แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการบินขึ้นและลงจอดในแนวดิ่งของสตาร์ชิป


ธันวาคม 2020 ยานต้นแบบรุ่น SN8 ทดสอบบินสูง

เครื่องต้นแบบสตาร์ชิป SN8 เสร็จสิ้นการบินทดสอบในระดับความสูง 12.5 กิโลเมตร แต่เกิดระเบิดขณะพยายามลงจอด แต่ก็ถือว่าการทดสอบนี้ให้ข้อมูลอันมีค่าสำหรับการพัฒนายานต้นแบบรุ่นต่อ ๆ ไป


2021 ทดสอบและพัฒนาต่อเนื่อง

สเปซเอ็กซ์ยังคงพัฒนาและทดสอบต้นแบบยานสตาร์ชิปอย่างต่อเนื่อง โดยมีเที่ยวบินทดสอบในระดับความสูงหลายระดับ ยานต้นแบบมีหลายรุ่น คือ SN9, SN10, SN11 และ SN15 การทดสอบแต่ละครั้งให้ข้อมูลเชิงลึกที่จำเป็น ช่วยให้สเปซเอ็กซ์ปรับแต่งการออกแบบ ด้านระบบ และประสิทธิภาพของยานอวกาศได้


พฤษภาคม 2021 ยานต้นแบบ SN15 ทดสอบบินสูงสำเร็จ

ยานต้นแบบ SN15 ทดสอบบินสูงสำเร็จที่ระดับความสูง 10 กิโลเมตร และสามารถลงจอดได้อย่างปลอดภัย นี่เป็นก้าวสำคัญในการพัฒนายานสตาร์ชิป โดยแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการปรับแต่งการออกแบบและระบบของยานอวกาศ


กรกฎาคม 2021 การทดสอบจรวดซูเปอร์เฮฟวี่ (Booster 3)

ทดสอบการยิงแบบคงที่ครั้งแรกของจรวดซูเปอร์เฮฟวี่ (Booster 3) ซึ่งปูทางสำหรับการทดสอบสตาร์ชิปและซูเปอร์เฮฟวี่แบบบูรณาการในอนาคต


สิงหาคม 2021 เปิดตัวจรวดซูเปอร์เฮฟวี่ (Booster 4) 

เปิดตัวจรวดซูเปอร์เฮฟวี่ (Booster 4)และวางไว้บนแท่นปล่อยยานอวกาศ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการทดสอบบูรณาการกับยานอวกาศสตาร์ชิปในอนาคต


2022 

ทดสอบและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง


เมษายน 2023 ทดสอบปล่อยยานอวกาศสตาร์ชิปสู่อวกาศครั้งที่ 1

ยานอวกาศสตาร์ชิปตั้งเป้าจะบินขึ้นสู่วงโคจรโลกก่อนที่จะลงจอดบริเวณหมู่เกาะฮาวาย ส่วนจรวดซูเปอร์เฮฟวี่ตั้งเป้าลงจอดบนอ่าวเม็กซิโก ห่างชายฝั่งเท็กซัสประมาณ 30 กิโลเมตร แต่ยานเกิดความเสียหายต่อฐานปล่อยและโครงสร้างพื้นฐานโดยรอบ เครื่องยนต์หลายเครื่องล้มเหลว ตัวยานไม่สามารถแยกออกจากจรวดซูเปอร์เฮฟวี่ได้ ยานจึงร่วงตก ระบบการบินอัตโนมัติถูกปิดใช้งาน จากนั้นยานอวกาศระเบิด เป็นเวลาเกือบ 4 นาทีหลังการขึ้นบิน


พฤศจิกายน 2023 ทดสอบปล่อยยานอวกาศสตาร์ชิปสู่อวกาศครั้งที่ 2

การทดสอบปล่อยยานอวกาศครั้งที่ 2 เป้าหมายคือบินข้ามโลกประมาณ 3 ส่วน 4 รอบ และตั้งเป้าลงจอดเหมือนครั้งที่ 1 ยานอวกาศสตาร์ชิปได้แยกตัวออกจากจรวดซูเปอร์เฮฟวี่หลังจากปล่อย 3.20 นาที แต่สุดท้ายจรวดซูเปอร์เฮฟวี่ก็ระเบิดขณะตกกลับลงมาสู่พื้นโลกที่ระดับความสูงประมาณ 90 กิโลเมตร


มีนาคม 2024 ทดสอบปล่อยยานอวกาศสตาร์ชิปสู่อวกาศครั้งที่ 3

ยานสตาร์ชิปสามารถเดินทางขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ แต่ได้ขาดการติดต่อกับศูนย์ควบคุมขณะยานทำการ Re-Entry ผ่านชั้นบรรยากาศกลับโลก ส่วนจรวดซูเปอร์เฮฟวี่ (Super Heavy) ทิ้งตัวลงบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติก


นี่คือไทม์ไลน์จากอดีตจนถึงปัจจุบันของยานอวกาศสตาร์ชิป ต่อไปนี้คือแผนการในอนาคตของยานอวกาศสตาร์ชิป


2024 ตั้งเป้าเปิดตัวปล่อยตัวดาวเทียมซูเปอร์เบิร์ด-9

ซูเปอร์เบิร์ด-9 (Superbird-9) เป็นดาวเทียมสื่อสารค้างฟ้าที่ดำเนินการบริษัทสื่อสารผ่านดาวเทียมสัญชาติญี่ปุ่นอย่างสกาย เพอร์เฟ็กต์ เจแซ็ท (SKY Perfect JSAT) และจะใช้ยานอวกาศสตาร์ชิปในการเปิดตัวภายในปี 2024


2024 ท่องเที่ยวอวกาศในโปรเจกต์ dearMoon 

เป็นโปรเจกต์ที่จะพานักท่องเที่ยว 9 คนไปบินวนรอบดวงจันทร์ ตั้งเป้าบินภายในปี 2024


2024 ท่องเที่ยวอวกาศรอบดวงจันทร์ครั้งที่ 2

เดนนิส ติโต (Dennis Tito) ผู้ประกอบการชาวอเมริกันและอากิโกะ (Akiko) ภรรยาของเขา จะเป็นลูกเรือ 2 คนแรกของสตาร์ชิปในการบินเชิงพาณิชย์ครั้งที่ 2 โดยจะบินรอบดวงจันทร์


2025 การสาธิต HLS

การสาธิตระบบการนำมนุษย์ลงจอด (Human Landing System หรือ HLS) ซึ่งจะเกิดขึ้นก่อนภารกิจอาร์เทมิส-3 (Artemis-3) ที่กำหนดช่วงเวลาไว้ที่ปี 2026 โดยอาร์เทมิส 3 จะใช้ยานอวกาศสตาร์ชิป ประกาศในเดือนเมษายน 2021 และตั้งเป้าทำสำเร็จในปี 2025


2026 ภารกิจอาร์เทมิส 3

เป็นภารกิจส่งมนุษย์ไปลงเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ ก่อนหน้านี้ตั้งเป้าเป็นภายในปี 2025 แต่องค์การนาซา (NASA) เลื่อนออกไปเป็นเดือนกันยายน 2026 ซึ่งเหตุผลที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงกำหนดการ ก็คือเรื่องของความปลอดภัย และความท้าทายเรื่องข้อจำกัดของเทคโนโลยี


2026 ภารกิจยานโรเวอร์สำรวจดวงจันทร์แอสโตรแลบ เฟล็กซ์ (Astrolab Flex)

เป็นภารกิจส่งยานโรเวอร์สำรวจ FLEX (Flexible Logistics and Exploration) ไปยังบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ ซึ่งยานโรเวอร์ลำนี้คาดว่าจะเป็นยานโรเวอร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุดที่จะเดินทางไปดวงจันทร์ ตั้งเป้าสำเร็จภายในปี 2026


2028 ภารกิจอาร์เทมิส 4

เป็นภารกิจที่จะใช้ยานอวกาศสตาร์ชิปในการส่งนักบินอวกาศไปยังลูนาร์ เกตเวย์ (Lunar Gateway สถานีอวกาศนอกโลก อยู่ในวงโคจรดวงจันทร์ มีกำหนดภายในปี 2028


2029 Mars Mission

ภารกิจนำมนุษย์คนแรกเหยียบดาวอังคาร ตั้งเป้าสำเร็จภายในปี 2029


ที่มาข้อมูล Newspaceeconomy

ที่มารูปภาพ


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง