รู้จัก CPR วิธีปฐมพยาบาลที่เพิ่มโอกาสรอดชีวิตจากภาวะหยุดหายใจ
เหตุการณ์อิแทวอน มีคนที่ต้องได้รับการปั๊มหัวใจช่วยชีวิตหรือ CPR และการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอื่น ๆ มากถึง 300 คน ทำให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยมีงานล้นมือ จนต้องให้ผู้คนทั่วไปในบริเวณนั้นมาช่วยปั๊มหัวใจผู้ประสบเหตุ ประกอบกับผู้คนในบริเวณนั้นแห่กลับบ้านจนการจราจรติดขัด เป็นอุปสรรคต่อการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ หากเราอยู่ในเหตุการณ์ต้องทำ CPR จะต้องทำอย่างไร วันนี้ TrueID มีคำตอบมาให้ทุกคนแล้ว
รู้จัก CPR วิธีปฐมพยาบาล
CPR คืออะไร?
CPR หรือ Cardiopulmonary resuscitation จะทำ CPR ตอนไหน คือตอนที่ผู้ป่วยหยุดหายใจ หรือเช็คชีพจรแล้วไม่มีการเต้นของหัวใจ เหตุการณ์แบบนี้เราพบได้ทั่วไป แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถช่วยเหลือหรือฟื้นคืนชีพได้ทันท่วงที เนื่องจากสมองของคนเราขาดอากาศได้ไม่เกิน 4 นาทีการ CPR จะช่วยส่งเลือดพร้อมออกซิเจนขึ้นไปเลี้ยงสมอง ดังนั้นหากพบและช่วยเหลือได้ทันท่วงทีก็สามารถที่จะทำให้ผู้ป่วยรายนั้นๆ สามารถจะรอดชีวิตได้
เมื่อไรถึงควรทำ CPR?
เราสามารถเข้าไปทำ CPR ให้กับผู้ป่วยที่หมดสติ ลมหายใจอ่อนหรือหยุดหายใจ หัวใจใกล้หยุดเต้น หรือหยุดเต้นไปแล้ว เช่น จมน้ำ หัวใจวาย สำลักควันไฟจากที่ที่เกิดไฟไหม้ อุบัติเหตุต่างๆ
วิธีทำ CPR ที่ถูกต้อง
- ตรวจดูความปลอดภัยบริเวณรอบๆ ตัวผู้ป่วย เช่น มีของแหลมคม มีกระแสไฟฟ้า มีน้ำมัน มีไฟ หรือสิ่งอันตรายอื่นๆ หรือไม่ ถ้าดูไม่ปลอดภัย อย่าเพิ่งเข้าไป เรียกกู้ภัยมาช่วยเหลือดีกว่า
- หากสถานที่รอบๆ ผู้ป่วยปลอดภัยดี ให้เข้าไปหาผู้ป่วยทำการยืนยันว่าผู้ป่วยหมดสติจริง โดยการตีที่ไหล่แล้วเรียกด้วยเสียงดัง 4-5 ครั้ง หากผู้ป่วยยังรู้สึกตัวอยู่ หายใจเองได้ ให้จับนอนตะแคง รอการช่วยเหลือ โทร 1669 ไม่ควรทำ CPR ขณะที่ผู้ป่วยยังมีสติ
- หากไม่ได้สติ ไม่ลืมตาจริงๆ และหยุดหายใจ ให้รีบโทรหา 1669 เช่นกัน แจ้งทีมงานว่าผู้ป่วยไม่ได้สติ หยุดหายใจ ให้นำเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือ AED มาด้วย
- เริ่มทำการกดหน้าอก โดยจับผู้ป่วยนอนหงาย นั่งคุกเข่าข้างผู้ป่วย วางสันมือข้างหนึ่งตรงครึ่งล่างกระดูกหน้าอก (ตำแหน่งตรงกลางระหว่างหน้าอก ระดับเดียวกับหัวนมพอดี) และวางมืออีกข้างทับประสานกันไว้ เริ่มการกดหน้าอกด้วยความลึกอย่างน้อย 5 เซนติเมตร ในอัตราเร็ว 100-120 ครั้งต่อนาที สามารถปั๊มหัวใจตามจังหวะเพลง “สุขกันเถอะเรา” ของสุนทราภรณ์, “Staying Alive” ของ Bee Gees หรือ “Imperial March” เพลงธีมของ Darth Vader ในภาพยนตร์เรื่อง Star Wars ได้
- ควรทำ CPR ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าทีมแพทย์ หรือหน่วยกู้ภัยจะมา หากคุณไม่เคยเข้ารับการฝึกทำ CPR มาก่อน ให้กดหน้าอกเพียงอย่างเดียวไปเรื่อยๆ หากคุณเคยทำ CPR แล้ว อาจกดหน้าอกสลับกับการเป่าปากช่วยหายใจได้ โดยกดหน้าอก 30 ครั้ง สลับมาเป่าปากช่วยหายใจ 2 ครั้ง
- ในกรณีที่มีคนอยู่ด้วยหลายคน สามารถสลับให้คนอื่นมาช่วยปั๊มหัวใจแทนได้
เมื่อไรควรหยุดทำ CPR?
ควรทำ CPR ไปเรื่อยๆ จนกว่าทีมกู้ภัย หรือหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จะมา แล้วเข้าช่วยเหลือด้วยเครื่อง AED อีกครั้ง ก่อนนำส่งโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ระหว่างการทำ CPR เราควรเรียกคนมาช่วย รีบโทร. 1669 / 1745 เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่เร็วที่สุด หากสามารถนำส่งโรงพยาบาลด้วยตัวเองได้ ก็สามารถทำ CPR ระหว่างนำส่งโรงพยาบาลได้เช่นกัน
ข้อมูล โรงพยาบาลบางปะกอก 3 , มูลนิธิหมอชาวบ้าน
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.
คลิกเลย >>> TrueID Community <<<