รีเซต

ธุรกิจเตือน‘ล็อกโรงงาน’ส่งออกเซ ดับฝัน10อุตฯฝ่าวิกฤตโควิดตรึงรายได้

ธุรกิจเตือน‘ล็อกโรงงาน’ส่งออกเซ ดับฝัน10อุตฯฝ่าวิกฤตโควิดตรึงรายได้
มติชน
26 กรกฎาคม 2564 ( 11:11 )
41

หลายธุรกิจในช่วงนี้เรียกได้ว่าจ่อคิวเข้าห้องไอซียูรอรัฐบาลออกมาตรการปั๊มหัวใจกันเป็นแถว หลังจากที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่กลับมาทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้งเมื่อเดือนเมษายนถึงปัจจุบัน ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทะลุกว่า 1.5 หมื่นคนต่อวันแล้ว พร้อมกับความกังวลตัวเลขผู้เสียชีวิตทะลุ 100 คนต่อวันแล้วเช่นกัน ดูสถิติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าระบบสาธารณสุขของไทยเริ่มรับมือไม่ไหวแล้ว กดดันความไม่เชื่อมั่นในด้านต่างๆ กว้างขึ้น รวมถึงความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจ ที่ต่างได้รับผลกระทบไม่ต่างกันจากมาตรการรัฐที่ต้องเข้มงวดขึ้น กำลังเริ่มขยายวงกว้างต่อความหวังในภาคส่งออกที่ยังถูกมองว่าเป็นเครื่องจักรที่แข็งแกร่งที่สุดในตอนนี้ เริ่มสั่นคลอนแล้วหรือไม่ !!

 

⦁ห่วงเป้าส่งออก10%ไกลเกินเอื้อม
หลังจากที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กำหนดจังหวัดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) เพิ่มเติมจาก 10 จังหวัด เป็น 13 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ปัตตานี ยะลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สงขลา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา และฉะเชิงเทรา ซึ่งภาคเอกชนส่วนใหญ่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ภาคการผลิตหลักจะอยู่ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และชลบุรี หากสถานการณ์เลวร้าย หรือพบการแพร่ระบาดในโรงงานเพิ่มมากขึ้นจนส่งผลกระทบให้ต้องหยุดการผลิต เมื่อนั้นภาคการส่งออกที่กำลังดีมากในช่วงนี้จะสะดุดลงทันที และฝันที่ภาคการส่งออกในปี 2564 จะเติบโตที่ 10% ก็จะไกลเกินเอื้อมทันที

 

⦁กกร.-แบงก์ผนึกเสียงส่งออกยังดี
สวนทางกับความเห็นของคณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน (กกร.) โดย สนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยว่า แม้จะมีการปรับลดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทย ปี 2564 เหลือ 0.5-1.5% จากเดิมคาดว่าจะเติบโตได้ 0.5-2.0% เพราะการบริโภค ท่องเที่ยว และลงทุนยังไม่ฟื้นตัว แต่การส่งออกยังมีความหวัง ดังนั้น ที่ประชุม กกร.มีมติเอกฉันท์ปรับเพิ่มประมาณการการส่งออกไทยทั้งปี 2564 ขยายตัวเป็น 8-10% จาก 5-7% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวชัดเจนต่อเนื่องส่งผลดีต่อแนวโน้มส่งออกของไทยเป็นอย่างมาก

 

สอดคล้องกับศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (อีไอซี) ได้มีการประเมินการส่งออกปี 2564 ว่ามีโอกาสเติบโต 15% ประเมินจากการส่งออกเดือนมิถุนายน 2564 ที่ขยายตัวสูงตามทิศทางการค้าโลกที่ยังขยายตัวดีและปัจจัยฐานต่ำในปีก่อน โดยส่งออกขยายตัวทั้งในด้านตลาดนำเข้าสินค้าไทย และกลุ่มสินค้าสำคัญๆ แต่ยังมองปัจจัยเสี่ยงที่น่ากังวล คือ การระบาดของสายพันธุ์เดลต้า หากยืดเยื้อจะทำให้ความเสี่ยงต่อการส่งออกไทยเพิ่มขึ้น และความเสี่ยงซัพพลาย ดิสรัปชั่น (การหยุดชะงักของซัพพลายเชน) ที่เกิดขึ้นจากการปิดโรงงานในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ที่น่าห่วงคือโควิดระบาดเข้าพื้นที่แหล่งตั้งโรงงานมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

⦁กังวลโควิดกระทบการผลิต
ส่วนความเห็นขององค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกับแนวโน้มการส่งออกมากที่สุด อย่าง ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ยืนยันธุรกิจผลิตและส่งออกกังวลมากขึ้นหลังจากการที่ ศบค.ประกาศล็อกดาวน์คุมเข้มพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 13 จังหวัด จากการประเมินในเบื้องต้น ภาคการผลิตหลักตั้งอยู่ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และชลบุรี แต่เชื่อว่าจากประกาศดังกล่าวอาจยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกมากนักในเวลานี้ จากการสอบถามภาคอุตสาหกรรมยืนยันว่ายังเดินหน้าผลิตได้ต่อ แต่ปัญหาตอนนี้คือการล็อกดาวน์ขยายพื้นที่และขยายเวลาออกไปเรื่อยๆ กรณีพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตขึ้นอีกไม่ว่าจะพื้นที่จังหวัดใด จำนวนที่มากๆ แค่เดือนเดียว จะส่งผลกระทบต่อการผลิตลดลงหรือชะงัก และการส่งมอบสินค้าล่าช้าลงทันที รวมทั้งจะส่งผลให้ภาคการส่งออกปี 2564 จากเดิมคาดหวังได้ว่าจะเติบโตถึง 10% อาจต่ำลงเหลือเพียง 7% เท่านั้น

 

ฟากความเห็นจากอุตสาหกรรมภาคผลิตอย่าง เกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองว่า การที่ ศบค.ประกาศล็อกดาวน์คุมเข้มพื้นที่สีแดงเข้ม 13 จังหวัด ปัญหาที่ตามมาคือเรื่องซัพพลาย ดิสรัปชั่น หรือจากเดิมคาดว่าภาคการส่งออกปี 2564 เติบโต 8-10% อาจไม่เป็นไปตามนั้นแล้ว แม้คำสั่งซื้อจะมีเข้ามามาก แต่ตอนนี้ไทยโดนโควิด-19 โจมตีอย่างหนัก ส่งผลให้หลายโรงงานเริ่มติดปัญหารายการผลิตสะดุด อาทิ โรงงานของโตโยต้าปัจจุบันต้องปิดโรงงานแล้ว 3 แห่ง ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นต้น อีกทั้งในหลายโรงงานที่ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกก็โดนโควิดเล่นงานเช่นเดียวกัน จากการสำรวจแต่ละโรงงานในพื้นที่เสี่ยงพบว่ามีการติดเชื้อในโรงงานเฉลี่ย 20-30%

 

⦁อู่ฮั่นโมเดลเสี่ยงฉุดศก.ติดลบ
เมื่อสอบถามภาคธุรกิจทุกเสียงยอมรับว่า ประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดแบบวันต่อวันคือ สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จากนี้ หากยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดให้มีผู้ติดเชื้อน้อยลงได้ ศบค.ใช้ยาแรงอีกขยายการล็อกดาวน์ยาวนานกว่าที่รัฐบาลตั้งใจไว้ หรือลากยาวไปอีก 1-2 เดือน พื้นที่สีแดงเข้มมากกว่า 13 จังหวัด ก็จะยิ่งส่งผลหนักต่อระบบเศรษฐกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมากที่กำลังแย่จากปัญหาดังกล่าว ศบค.เคยชี้แจงว่าจะเลือกใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก โดยจะประเมินทุก 2 สัปดาห์ หากคุมไม่ได้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ใกล้ 2-3 หมื่นต่อวัน อาจเป็นไปได้สูงที่ ศบค.ตัดสินใจประกาศใช้โมเดลอู่ฮั่น ปิดล็อกพื้นที่ 100% นั่นหมายถึงดับฝันส่งออกโตได้กว่าครึ่งปีแรก 2564 ที่ขยายตัวได้กว่า 15% ลามถึงจีดีพีไทยปีนี้อาจติดลบ ดังนั้น เรื่องการปิดโรงงาน หรือซีล (Seal) โรงงาน ภาคเอกชนจึงเสนอผ่านกระทรวงพาณิชย์ที่ไปหารือรัฐบาลว่าซีลอย่างไรที่ไม่กระทบต่อซัพพลายเชนและส่งออกในอนาคต สัปดาห์นี้ต้องติดตามผลประชุม ศบค.และ ครม.จะตัดสินใจอย่างไร !!

 

⦁แนวโน้ม10อุตสาหกรรม
จากข้อมูลภาคอุตสาหกรรมต่อแนวโน้มส่งออกใน 10 อุตสาหกรรมหลักช่วงครึ่งปีหลัง 2564 ได้แก่ 1.ยานยนต์ 2.อาหาร 3.ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ ถุงมือยาง และสินค้าสุขภาพ 4.ยาและสมุนไพร 5.ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 6.เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 7.เครื่องปรับอากาศและทำความเย็น 8.เฟอร์นิเจอร์ 9.หัตถกรรมสร้างสรรค์ และ 10.เครื่องสำอาง ทุกกลุ่มตั้งคาดการณ์ส่งออกครึ่งปีหลังดีใกล้เคียงครึ่งปีแรก เฉลี่ย 7-12% จะส่งผลส่งออกรวมประคองมูลค่าเฉลี่ย 2.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ/เดือน ทั้งปีโต 6-7% ได้แน่นอน

 

ซึ่งแม้โควิดในไทยยังมีความรุนแรงผู้ประกอบการใน 10 อุตสาหกรรมที่กล่าวมา ออกมาแสดงความมั่นใจว่ายังเป็นดาวเด่น สะท้อนจากความต้องการสั่งผลิตสั่งซื้อล่วงหน้ามีมาต่อเนื่องจนถึงปลายปี ทำให้บางอุตสาหกรรมปรับเพิ่มคาดการณ์ใหม่ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ ปรับการผลิตรถยนต์จาก 1.5 ล้านคัน แบ่งเป็น ใช้ในประเทศ 7.5 แสนคัน ส่งออก 7.5 แสนคัน เพิ่มเป็นกว่า 1.5-1.6 ล้านคัน โดยส่วนที่เพิ่มผลิตเพื่อส่งออก 5 หมื่นถึง 1 แสนคัน แม้เริ่มกังวลว่าการผลิตอาจสะดุดลง หากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กินเวลาออกไป 1-2 เดือน

 

แต่อย่างไรก็ตาม ทุกเสียงก็ยังมองโอกาสส่งออกที่ดีขึ้นได้ บนความมั่นใจรัฐบาลบริหารจัดการวัคซีนได้รวดเร็วเพียงพอ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 120 วันเปิดประเทศ!!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง