พนักงานสกสค. แถลงวอนทบทวนมติเลิกจ้าง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ
วันนี้ (2ก.ค.63) จากการเสนอข่าวของสื่อมวลชวนที่ผ่านมา เรื่องคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของ สกสค. มีมติให้เลิกจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค.ทั้งองค์กร และออกคำสั่ง องค์การค้าของ สกสค.ที่ 85/2563 ให้เลิกจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่ จำนวน 961 คน และรอการเลิกจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกษียณในเดือนกันยายน 2563 นี้ กับกรรมการลูกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานอีก จำนวนเกือบร้อยคน เป็นการเลิกจ้างหมดทั้งองค์กร เท่ากับว่าองค์การค้าของ สกสค.ยุติภารกิจทั้งหมด คือยุบองค์การค้าของ สกสค. หรือล้างกระดานพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่องค์การค้าทำภารกิจต่อไป จ้างพนักงานเจ้าหน้าที่เข้ามาใหม่ สหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา เห็นว่าแนวคิดทั้งสองแนวทางเป็นแนวคิดที่ผิดหมด เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุดและหัวใจของปัญหา อีกทั้งจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย
ส่วนสาเหตุการเลิกจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่ทั้งหมดครั้งนี้ สหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา กำลังดำเนินการขอรายงานการประชุมดังกล่าวอยู่ แต่จากข้อมูลการให้สัมภาษณ์ของท่านรัฐมนตรี หรือท่านรักษาการผู้อำนวยการองค์การค้าฯ พอจะสรุปได้ว่า สาเหตุมาจากองค์การค้าประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องมาโดยตลอด มีหนี้สะสมมาจนถึงปัจจุบัน จำนวนประมาณ 5,700 ล้านบาท และมีอัตรากำลังพนักงานเจ้าหน้าที่มากล้นงานที่มีอยู่ ค่าใช้จ่ายค่าจ้างสูงมาก จึงมีความจำเป็นต้องเลิกจ้างทั้งหมดเช่นนี้ เพราะสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.แบกรับภาระเช่นนี้ต่อไปไม่ไหว สาธารณชนคงได้รับทราบมาเช่นนั้น
สหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา ขอเรียนให้ท่านผู้บริหารระดับสูงที่รับผิดชอบกับองค์การค้าของ สกสค. และสาธารณชนทราบว่า การพิจารณาการเลิกจ้างพนักงานหมดทั้งองค์กรนี้ เป็นแนวคิดบนข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน และผิดพลาดอย่างร้ายแรง อาจทำให้เกิดผลกระทบกับการบริหารงาน และเกิดความเสียหายกับสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.ต่อไปได้ ซึ่งมติคณะกรรมการบริหารองค์การค้าฯ และคำสั่ง องค์การค้าของ สกสค.ที่ 85/2563 ให้เลิกจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่ จะมีผลในการเลิกจ้าง ในวันที่ 1 สิงหาคม 2563 อีกหนึ่งเดือนข้างหน้า จึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการบริหารองค์การค้าฯ ทบทวนมติดังกล่าว และยกเลิกคำสั่ง องค์การค้าของ สกสค.ที่ 85/2563 ให้เลิกจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่ ไว้ก่อน ด้วยเหตุผลคร่าวๆ ไม่ได้ลงลึก ดังต่อไปนี้
การค้าขององค์การค้าฯ มีภารกิจและรายได้หลักในการดำเนินธุรกิจการค้าคือ การพิมพ์ และจำหน่ายหนังสือแบบเรียนต้นฉบับของ สสวท. และ สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ ให้ถึงโรงเรียนทั่วประเทศก่อนการเปิดภาคเรียนในทุกปีการศึกษา ดังนั้นองค์การค้าฯ จึงมีงาน มีรายได้ที่แน่นอน สามารถบริหารสร้างรายได้และไม่ควรขาดทุน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือนำงานไปจ้างเอกชนภายนอกพิมพ์ เป็นการเปิดช่องว่างให้เกิดการทุจริตในการจ้างงาน มีเรื่องร้องเรียนที่สหภาพแรงงานฯส่งไปที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และปปช.สอบสวนมาโดยตลอด ในทางสอบสวนบางคดีถูกชี้มูลความผิดแล้ว แต่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบไม่มีการดำเนินการเอาผิดให้ถึงที่สุด นี่เป็นหนึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้ขาดทุนแต่ไม่มีการหยิบยกมาพิจารณาแก้ไข
มีหนี้สะสมมาจนถึงปัจจุบัน จำนวนประมาณ 5,700 ล้านบาท ถ้าเข้าไปตรวจสอบจะพบว่าเป็นการสร้างหนี้ของบุคคลที่มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าฯ แต่ละท่าน ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา จะนำเงินที่ขอกู้มาจ่ายค่าจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนที่นำไปจ้างเอกชนภายนอกพิมพ์ ซึ่งเป็นการใช้เงินกู้ผิดวัตถุประสงค์ในการขอกู้เงินดังกล่าวทุกครั้ง ทำให้ขาดวินัยทางการเงินเกิดความเสียหายต้องรับภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น
ที่กล่าวหาว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ล้นงาน ค่าใช้จ่าย ค่าจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่สูง ก็ต้องตรวจสอบข้อมูลหลักฐานเอกสารรายงานค่าใช้จ่ายกับสัดส่วนของงานและรายได้ในอัตราเฉลี่ยของรายได้ ด้วยว่าอยู่ในอัตราส่วนของโครงสร้างราคาขายและกำไรที่ควรจะเป็นหรือไม่ และในอัตราส่วนโดยรวมของค่าจ้างพิมพ์รวมกับค่าจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่องค์การค้าฯ รวมเป็นสองเด้ง ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ขาดทุน
ถ้าหากพนักงานเจ้าหน้าที่ล้นงาน เหตุใดจึงนำงานไปจ้างเอกชนภายนอกพิมพ์ และหากพนักงานเจ้าหน้าที่ล้นงานจริง ทำไมต้องจ้างลูกจ้างจากบริษัทเอาท์ซอส์ท ให้ส่งลูกจ้างเพิ่มเข้ามาทำงานอีกกว่า 300 คน อีกทั้งจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย พนักงานทำความสะอาด ดังนั้น สาเหตุนี้จึงสวนทางกับความเป็นจริง จึงเห็นว่า หากมีการตัดปริมาณงานที่มีอยู่ไปให้เอกชนพิมพ์เท่ากับการบริหารจัดการปริมาณงานกับการบริหารอัตรากำลังไม่สมดุลกัน ทำให้เห็นว่ายังบกพร่องในการจัดการในเรื่องนี้
หากเลิกจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่ทั้งหมดเช่นนี้ การพิมพ์ และจำหน่ายหนังสือแบบเรียนต้นฉบับของ สสวท. และ สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ การเลิกจ้างหมดทั้งองค์กร เท่ากับว่าองค์การค้าของ สกสค.ยุติภารกิจทั้งหมด คือยุบองค์การค้าของ สกสค. ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่แค่สิทธิประโยชน์ของพนักงานเจ้าที่ต่างๆที่กฎหมายกำหนด อาจบานปลายไปถึงความสูญเสียทรัพย์สินที่ไม่ควรเสียก็เป็นได้รวมถึงการละเมิดสัญญาข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่กฎหมายกำหนด
หนี้สินและความเสียหายที่เกิดขึ้น เกิดจากความผิดพลาดในการบริหารจัดการของผู้บริหารทั้งสิ้น การที่คณะกรรมการบริหารองค์การค้าของ สกสค. มีมติเลิกจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น จึงเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมกับพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งส่งผลกระทบการขาดรายได้ในการดำรงชีวิตและมีผลกระทบไปถึงสถาบันครอบครัว ก่อให้เกิดปัญหาสังคมและประเทศชาติอีกด้วย
จากสาเหตุที่กล่าวข้างต้นเป็นเพียงเหตุการณ์บางส่วนที่ยกขึ้นมาเพื่อให้เห็นว่าต้นเหตุของการขาดทุนจนเป็นหนี้สะสมมากมายนั้น ยังไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาแก้ไขก่อนที่จะมีมติเลิกจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่ทั้งหมด สหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา จึงมีความเห็นว่า คณะกรรมการบริหารองค์การค้าของ สกสค. ต้องขอข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ตั้งแต่ในอดีตที่เป็นสาเหตุหลักในความล้มเหลว มาพิจารณาด้วยความเป็นธรรม และใช้หลักธรรมาภิบาล ในการแก้ไขปัญหาต่อไป
อนึ่ง องค์การค้าของ สกสค. ไม่เคยได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานใดๆ จาก สำนักงานสกสค. และรัฐบาลแม้บาทเดียว แถมยังปฎิบัติภารกิจที่กระทรวงศึกษาธิการมอบหมาย โดยเฉพาะการตรึงราคาหนังสือเรียนให้มีระดับราคาที่ไม่สูงเกินไป และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 องค์การค้าของ สกสค.ต้องแข่งขันเสรี ตามที่กำหนดใน พระราชบัญญัติการศึกษาแห่ง พ.ศ. 2542 บังคับใช้
จึงเรียนมาเพื่อขอสื่อสารไปยังคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของ สกสค. ให้ดำเนินการทบทวนมติดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าว และขอให้สาธารณชนได้รับทราบข้อเท็จจริงภายในองค์กรนี้ด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศธ.ยันเลิกจ้างพนักงานสกสค. กว่า900ชีวิตดำเนินการรอบคอบ
ขาดทุนกว่า15ปี! องค์การค้าสกสค. ประกาศเลิกจ้างพนักงาน 961 ราย
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online
TIKTOK : @tnnonline