รีเซต

เจ้าของสมูทอีซื้อNRF ปั้นแบรนด์ไทยกระหึ่ม

เจ้าของสมูทอีซื้อNRF ปั้นแบรนด์ไทยกระหึ่ม
ทันหุ้น
6 พฤศจิกายน 2566 ( 06:41 )
93

#NRF #ทันหุ้น – NRF เข้าตา “ดร.แสงสุข” นักธุรกิจปรามาจารย์ด้านการตลาดของไทย เจ้าของแบรนด์ SMOOTH E, Dentiste' และร้านยา P&F และอธิการบดี IESA เข้าสะสมหุ้น หวังปั้นแบรนด์สินค้า NRF ดังสนั่นโลก ทวงคืนเจ้าตลาดซอสพริกศรีราชา ด้านซีอีโอ “แดน” รับมีนักธุรกิจรายใหญ่ธุรกิจเวชสำอางเก็บหุ้นจริง หวังช่วยซินเนอร์ยี่บริษัท

 

แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจ เปิดเผยกับ “ทันหุ้น” ว่า “ภก.ดร.แสงสุข พิทยานุกุล” เจ้าของแบรนด์ SMOOTH E, Dentiste' และร้านยา P&F และอธิการบดี สถาบันวิทยาการประกอบการแห่งอโยธยา (IESA) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการตลาด การสร้างแบรนด์ ได้เข้ามาถือหุ้น “บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน)” หรือ NRF ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมรับประทาน และอาหารโปรตีนจากพืช

 

โดยการเข้ามาของ “ภก.ดร.แสงสุข” จะช่วยส่งเสริมแบรนด์สินค้าของ NRF ในฐานะผู้ประกอบการอาหารแห่งอนาคต ซึ่งส่วนหนึ่ง NRF มีความตั้งใจที่จะสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ “ซอสพริกศรีราชา” ของ NRF ที่ขายในสหรัฐอเมริกา และยุโรป ตลอดจนทั่วโลกให้ได้รับความนิยม หลังจากที่ผ่านมาผู้ที่เป็นเจ้าตลาดซอสพริกศรีราชาในสหรัฐคือชาวเวียดนาม ซึ่งจะเป็นจุดที่ทำให้ NRF มีโอกาสในการเติบโต

 

นอกจากนี้ NRF ยังมีผลิตภัณฑ์ด้านอาหารในอนาคต เช่น แพลนต์เบส และยังมีการลงทุนธุรกิจหลายด้านที่พร้อมจะสร้างแบรนด์ให้มีการเติบโต ดังนั้นในการเข้ามาของ “ภก.ดร.แสงสุข” จะเข้ามาช่วยในจุดนี้ได้อย่างดี

 

“ความตั้งใจของ ภก.ดร.แสงสุข ก็คือเห็นโอกาสของ นูทริชั่น หรือ โภชนาการ แห่งอนาคตที่จะมีโอกาสในการเติบโต และด้วยความสามรถด้านการตลาดของ ภก.ดร.แสงสุข ก็จะช่วยส่งเสริมให้ NRF เติบโต ซึ่ง ภก.ดร.แสงสุข ได้ใส่เงินเข้าซื้อหุ้น NRF ด้วย สิ่งที่บริษัทต้องการแรกๆ คือ การสร้างแบรนด์นำซอสศรีราชาให้กลับมาเป็นของคนไทย ก็จะมีการเวิร์กกัน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีรายการบิ๊กล็อตจำนวน 18 ล้านหุ้น ที่ราคาเฉลี่ย 5.70 บาท รวมมูลค่า 102.6 ล้านบาท

 

@ ผู้บริหารรับซินเนอร์ยี่

 

ด้านนายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF ยอมรับว่า ธุรกิจของบริษัทได้รับความสนใจต่อเนื่อง ล่าสุดมีนักธุรกิจรายใหญ่ ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเวชสำอาง และเป็นรายใหญ่ในด้านวงการตลาด เข้ามาทยอยสะสมหุ้น เพราะมองเห็นโอกาสเติบโตของบริษัท และโอกาสที่จะเห็นการ Synergy ธุรกิจร่วมกัน เพื่อต่อยอดการเติบโตของทั้ง 2 ฝ่าย ปัจจุบันบริษัทก็มีนักลงทุนรายใหญ่หลายรายที่สนใจธุรกิจของบริษัทเข้ามาเจรจา

 

“ปัจจุบันธุรกิจของบริษัทได้ความสนใจจากนักลงทุนต่อเนื่อง ปัจจุบันมีนักลงทุนรายใหญ่ ที่เป็นนักธุรกิจ เข้ามาทยอยสะสมหุ้นของบริษัท เพราะมองเห็นโอกาสต่อยอดSynergy ธุรกิจร่วมกัน และสร้างการเติบโตในอนาคตดังนั้นเชื่อว่าบริษัทก็จะสามารถถสร้างการเติบโตได้ จากการลงทุนภายในและการสร้างโอกาสทางธุรกิจกับพันธมิตร”นายแดน กล่าว

 

@ ขยายต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้ปี 2567 บริษัทตั้งเป้าการเติบโตของรายได้เติบโตดี 30-50% จากปี 2566 มีการขยายกำลังการผลิตโรงงานซอส 3 พันตันต่อเดือน เพื่อรองรับยอดขายทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ขณะที่ธุรกิจ Plant-Based Food หรือโปรตีนจากพืช ที่ร่วมกับ ปตท. ในการก่อสร้างโรงงานคาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ต้นปี 2567 กำลังการผลิต 3,000 ตันต่อปี โดยความต้องการ Plant-Based Food ยังขยายตัวได้ดี ตลาดมีการบริโภคมากขึ้น สอดคล้องกับกระแสสุขภาพและความยั่งยืนด้านอาหารของโลก รวมไปถึงการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวกับโปรตีนชนิดใหม่ๆ โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางด้านอาหารในอนาคต

 

@ขายซูเปอร์ต่อยอด

 

ในส่วนของธุรกิจปลายน้ำอย่างซูเปอร์มาร์เก็ตนั้นจะมีการขยายอย่างต่อเนื่องหลังจาก บริษัทได้เข้าลงทุนใน Chuanglee Limited หรือ CNL และบริษัท Chuanglee Cash & Carry Limited หรือ CCC ซึ่งประกอบธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกอาหารเอเชียในสหราชอาณาจักร โดยในปี 2567 จะมีการขยายเพิ่มอีก 5 สาขา บริษัทไม่มีความกังวลเรื่องสภาวะเศรษฐกิจโลกเนื่องจากร้านค้าปลีก ที่บริษัทเข้าลงทุนนั้นเป็นร้านสำหรับคนเอเชีย ที่อยู่ในในสหราชอาณาจักร ที่มีความต้องการบริโภคอาหารเอเชียต่อเนื่อง นอกจากนี้ต่างชาติเองก็มีการบริโภคอาหารเอเชียมากยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงเป็นมองว่าเป็นโอกาสในการเติบโตของบริษัท และเชื่อมั่นใจภาพรวมธุรกิจปีหน้า จากการขยายทุกกลุ่มธุรกิจ จะสนับสนุนให้บริษัทเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

 

บริษัทได้เดินตามวิสัยทัศน์ต่อสู้โลกร้อนด้วยอาหาร พร้อมก้าวไปสู่บริษัท Global Clean Food Tech Company หรือการขับเคลื่อนบริษัทไปสู่เทคโนโลยีอาหารพลังงานสะอาด มุ่งเน้นการลดการปล่อยคาร์บอน ทั้งทางด้านเทคโนโลยี การพัฒนาโครงการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานที่ใช้สำหรับการกักเก็บคาร์บอน ในไทย คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2568 และยังเจรจาที่จะดำเนินการในสหรัฐด้วย ที่ผ่านมามีบริษัทเอกชนหลายรายที่สนใจร่วมทุนกับบริษัท เพื่อสร้างโรงงานกักเก็บคาร์บอน โดยเป้าหมายหลักจะเป็นเรื่องของลดคาร์บอนของบริษัทนั้นๆ หรือการชดเชยคาร์บอน นอกจากนี้ยังมองเป้าหมายที่จะต่อยอดขายคาร์บอนเครดิตต่อไป เชื่อว่าผลตอบแทนจากการลงทุนโรงงานดังกล่าวจะทำได้มากกว่า 20%

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง