รีเซต

เด็กไทยเจ๋ง! คว้าชัยเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ ผู้ช่วยนักบินอวกาศนาซ่า

เด็กไทยเจ๋ง! คว้าชัยเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ ผู้ช่วยนักบินอวกาศนาซ่า
TNN ช่อง16
13 พฤศจิกายน 2567 ( 10:18 )
23
เด็กไทยเจ๋ง! คว้าชัยเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ ผู้ช่วยนักบินอวกาศนาซ่า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแข่งขัน Kibo Robot Programming Challenge เป็นการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee หุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศของ NASA ให้ปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศตามที่วางแผนไว้ โดยมีการแข่งขันจริงบนโมดูลคิโบะของสถานีอวกาศนานาชาติ ภายใต้การควบคุมดูแลของ ฌานเน็ตต์ เจ. เอปส์ นักบินอวกาศของ NASA ซึ่งประเทศไทยมีตัวแทนไปแข่งขันคือ "ทีมแอสโทรนัต" (Astronut) โดยมี ธรรญธร ไชยกายุต นักศึกษาชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า กองทัพบก เป็นหัวหน้าทีมฯ และมีสมาชิกในทีมประกอบด้วย ชิษณุพงศ์ ประทีปพงศ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล, ชยพล เดชศร นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ สิรวิชญ์ แพร่วิศวกิจ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยมี ปริทัศน์ เทียนทอง นักวิชาการอาวุโส ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นผู้ดูแลทีม

 

ทั้งนี้ ทีมแอสโทรนัต (Astronut) เป็นตัวแทนเยาวชนไทยเข้าแข่งขันรอบสุดท้ายกับตัวแทนเยาวชนจาก 13 ประเทศทั่วโลก ณ ศูนย์อวกาศสึคุบะ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ JAXA เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน โดยแต่ละทีมที่เข้าแข่งขันต้องออกแบบการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์ในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ เพื่อไปทำภารกิจตามที่ได้รับมอบหมายได้อย่างครบถ้วนและใช้เวลาได้น้อยที่สุด โดยผลปรากฏว่าทีมแอสโทรนัตของประเทศไทยสามารถคว้าอันดับ 1 ด้วยคะแนน 253.09 คะแนน ตามด้วยอันดับ 2 ทีมตัวแทนจากฟิลิปปินส์ 250.88 คะแนน และอันดับ 3 เป็นของตัวแทนจากบังกลาเทศ 153.92 คะแนน โดย โนริชิเงะ คะไน นักบินอวกาศของ JAXA มาร่วมให้ความเห็นระหว่างการแข่งขัน และมอบรางวัลแก่ตัวแทนเยาวชนไทย โดยการแข่งขัน Kibo Robot Programming Challenge ในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 โดยมีผู้เข้าแข่งขันรวมกว่า 661 ทีมจาก 35 ประเทศทั่วโลก ก่อนคัดเลือกเหลือ 13 ทีมในรอบสุดท้าย


นายธรรญธร ไชยกายุต นักศึกษาชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า หัวหน้าทีมแอสโทรนัต กล่าวว่า พวกเราดีใจเป็นอย่างมากที่สามารถคว้าชัยชนะมาได้จากความตั้งใจและความพยายามของทีมพวกเรา แม้จะเจอปัญหาซึ่งเกิดจากสภาพแวดล้อมจริงในสถานีอวกาศนานาชาติ แต่พวกเราได้เตรียมรับไว้ก่อนอยู่แล้ว จึงทำให้สามารถบรรลุภารกิจได้สำเร็จและยังคงทำเวลาได้ดี การที่ได้นำโค้ดที่พวกเราพัฒนาไปใช้จริงในสถานีอวกาศนานาชาตินับเป็นประสบการณ์อันทรงคุณค่า ซึ่งพวกเราจะนำประสบการณ์เหล่านี้ไปปรับใช้และต่อยอดในงานอื่นๆ ต่อไป

 //////

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง