พลาสติกลงทะเลแล้วไปไหน หรือว่าจะอยู่ในท้องของเรา?
TNN ช่อง16
1 ธันวาคม 2563 ( 00:12 )
95
เชื่อว่าหลาย ๆ คนน่าจะทราบกันดีว่าพลาสติกนั้นเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ยากและจะกลายเป็นขยะที่ค่อย ๆ สะสมทับถมกันบนโลกไปเรื่อย ๆ ยิ่งในท้องทะเลอันกว้างใหญ่ ใครเล่าจะรู้ว่าพลาสติกเหล่านี้กลายมาเป็นเกาะขยะพลาสติกขนาดยักษ์ที่รอวันหวนกลับมาทำร้ายมนุษย์ผู้ทิ้งมันไปได้ทุกเมื่อ
พลาสติกในท้องทะเลนั้นหลังจากที่มันลอยไปหลายปี ก็จะค่อย ๆ แตกออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งกลายเป็นชิ้นส่วนที่เล็กที่สุดที่เรียกว่า “microplastic” หรือ ไมโครพลาสติก ซึ่งเดิมทีชิ้นส่วนพลาสติกไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็มักจะถูกบรรดาสัตว์น้ำทั้งหลายเข้าใจผิดว่าเป็นอาหารของพวกมันอยู่เสมอ เช่น บรรดาเต่าทะเลที่มักจะเข้าใจผิดว่าถุงพลาสติกใสที่มันเห็นคือแมงกะพรุนจนเผลอกินเข้าไป และยิ่งไมโครพลาสติกที่ขนาดเล็กมากนั้นก็มักจะโดนกลืนลงท้องไปโดยบรรดาสัตว์น้ำอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน
แล้วมันกระทบกับชีวิตของมนุษย์อย่างไร? หากเป็นพลาสติกชิ้นใหญ่นั้นก็คงจะสามารถแยกออกจากสัตว์น้ำต่าง ๆ ได้โดยง่าย แต่กับไมโครพลาสติกที่มีขนาดเล็กมากจนเมื่อลงท้องของสัตว์ทะเลทั้งหลายไป ก็อาจจะมองไม่เห็นได้ง่าย ๆ จนกระทั่งมันกลายมาเป็นมื้ออาหารของเราแล้ว โดยเฉพาะอาหารซีฟู้ดที่ต้องรับประทานทั้งสัตว์ทะเลทั้งตัวหรือรวมกระเพาะของมันเข้าไปด้วย เช่นพวกหอยต่าง ๆ หอยแมลงภู่ หอยนางรม เมื่อเราทานเข้าไปก็อาจจะรับเอาไมโครพลาสติกที่อยู่ในท้องของสัตว์เหล่านั้นเข้าไปด้วยเช่นกัน โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งคาดการณ์ว่าคนที่รับประทานหอยจำนวนมาก อาจรับประทานอนุภาคไมโครพลาสติกเข้าไปถึงประมาณ 11,000 อนุภาคในแต่ละปีเลยทีเดียว นอกจากนี้ไมโครพลาสติกยังสามารถเข้าไปปนเปื้อนในส่วนอื่น ๆ นอกจากกระเพาะของสัตว์น้ำได้อีกด้วย และถึงแม้ว่าจะมีงานวิจัยล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ค้นพบว่าการปนเปื้อนในส่วนอื่น ๆ ของปลานั้นยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยง่าย แต่อันตรายจากสารเคมีที่มากับไมโครพลาสติกนั้นสามารถปนเปื้อนมากับปลาได้อยู่ดี เช่นสาร polychlorinated biphenyls (PCBs) เป็นต้น
ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะตกใจว่าแล้วร่างกายของเรามีพลาสติกปนเปื้อนเข้าไปมากขนาดไหนแล้ว? อ้างอิงจากการรายงานของ Forbes คาดว่ามีไมโครพลาสติกน้อยกว่า 0.3% เท่านั้นที่จะสามารถข้ามจากกระเพาะของเราไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ และต้องเป็นชิ้นส่วนที่เล็กที่สุดเท่านั้นจึงจะเข้าสู่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายเราได้ ซึ่งในขณะนี้ก็ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบของไมโครพลาสติกต่อร่างกายออกมามากนัก ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้ก็คือการช่วยกันดูแลรักษาโลกด้วยการลดใช้และไม่สร้างขยะพลาสติก ก็อาจจะเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน
ขอบคุณข้อมูลจาก
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online
TIKTOK : @tnnonline