วันนากโลก พุธสุดท้ายของเดือนพ.ค. รัก “นาก” อย่าเอามาเลี้ยง

วันพุธสุดท้ายของเดือนพฤษภาคม ของทุกปีได้รับการกำหนดให้เป็น “วันนากโลก” (World Otter Day) โดยองค์กร International Otter Survival Fund (IOSF) เพื่อรณรงค์ให้ทั่วโลกตระหนักถึงภัยคุกคามที่นากกำลังเผชิญ และส่งเสริมการอนุรักษ์นากในถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
นาก (Otter) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในวงศ์เพียงพอน (Mustelidae) มีความสามารถโดดเด่นในการว่ายน้ำและล่าสัตว์น้ำ เช่น ปลา กุ้ง ปู และสัตว์น้ำขนาดเล็ก นากเป็นสิ่งมีชีวิตที่ชี้วัดความสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ เนื่องจากต้องอาศัยน้ำสะอาดและระบบนิเวศที่สมดุลในการดำรงชีวิต ในประเทศไทยสามารถพบนากได้ถึง 4 ชนิด ได้แก่
- นากเล็กเล็บสั้น (Asian Small-clawed Otter)
- นากใหญ่ขนเรียบ (Smooth-coated Otter)
- นากจมูกขน (Hairy-nosed Otter)
- นากใหญ่ธรรมดา (Eurasian Otter)
โดยเฉพาะ นากจมูกขน ถือเป็นหนึ่งในนากที่หายากและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากที่สุดในโลก ปัจจุบันมีเพียงไม่กี่แห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สามารถพบเห็นได้ ซึ่งนากทั้งหมดในประเทศไทยได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และ 3 ใน 4 ชนิด ถูกจัดให้อยู่ในสถานะ เกือบอยู่ในข่ายใกล้สูญพันธุ์ (Near Threatened) ตามบัญชีแดงของ IUCN Red List
ปัจจุบันนากต้องเผชิญกับหลายปัจจัยคุกคาม ได้แก่
- การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยจากการพัฒนาเมืองและอุตสาหกรรม
- มลภาวะในแหล่งน้ำ
- การลักลอบล่านากเพื่อขนสัตว์
- การค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายโดยเฉพาะผ่านช่องทางออนไลน์
- ความเข้าใจผิดว่านากสามารถนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงได้
โดยเฉพาะในยุคโซเชียลมีเดีย ภาพและคลิปวิดีโอนากในอิริยาบถน่ารัก ถูกแชร์เป็นวงกว้างจนสร้างความเข้าใจผิดว่านากสามารถเป็นสัตว์เลี้ยงได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว นากเป็นสัตว์ป่าที่มีพฤติกรรมตามธรรมชาติซึ่งไม่เหมาะกับการเลี้ยงในที่อยู่อาศัยของมนุษย์ และการครอบครองนากโดยผิดกฎหมายอาจส่งผลอันตรายทั้งต่อตัวนากเอง และต่อผู้เลี้ยง
หากพบเห็นการค้าขายสัตว์ป่าผิดกฎหมาย หรือการลักลอบเลี้ยงนาก สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วนพิทักษ์ป่า 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง
การร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในการให้ความรู้ รณรงค์ และปกป้องถิ่นที่อยู่อาศัยของนากคือหนทางที่ดีที่สุดในการอนุรักษ์สัตว์ชนิดนี้ให้อยู่คู่ธรรมชาติไทยและโลกของเราต่อไป