รีเซต

สวทช. ประกาศทีม Astronut คว้ารางวัลชนะเลิศเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ เตรียมแข่งขันระดับนานาชาติ

สวทช. ประกาศทีม Astronut คว้ารางวัลชนะเลิศเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ เตรียมแข่งขันระดับนานาชาติ
TNN ช่อง16
12 กรกฎาคม 2567 ( 14:16 )
24

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ แจ็กซา (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) และหน่วยงานพันธมิตร ร่วมกันจัดแข่งขันโครงการ โครงการคิโบะ โรบ็อต โปรแกรมมิง ชาเลนจ์ ครั้งที่ 5 (The 5th Kibo Robot Programming Challenge) ภารกิจแข่งขันเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศแอสโตรบี (Astrobee) ที่ปฏิบัติงานอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS) ให้ปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย


ทั้งนี้ สวทช. เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรอบชิงแชมป์ประเทศไทย ในช่วงเดือนมิถุนายน 2567 นี้ โดยมีโจทย์ภารกิจ เป็นการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในระบบจำลองหรือ Simulation ควบคุมหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศ Astrobee เพื่อค้นหาอุปกรณ์ที่สูญหายในสถานีอวกาศ ซึ่งทีมที่ทำคะแนนได้ดีที่สุดจากผู้สมัครเข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 200 ทีมทั่วประเทศ จะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงแชมป์นานาชาติต่อไป ที่ศูนย์อวกาศสึกุบะ ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนพฤศจิกายน 2567 นี้ 




ผลการแข่งขันปรากฏว่า ทีมชนะเลิศได้แก่ ทีมแอสโทรนัต ซึ่งมีสมาชิก 4 คน ประกอบด้วย นายธรรญธร ไชยกายุต ชั้นปีที่ 1 คณะแพทยศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า นายชิษณุพงศ์ ประทีปพงศ์ ชั้นปีที่ 1 สาขากายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล นายชยพล เดชศร ชั้นปีที่ 1 สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล และนายสิรวิชญ์ แพร่วิศวกิจ ชั้นปีที่ 1 สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  


รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีมซินแท็กซ์ ไวยกรณ์ (Syntax Waiyakorn) จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีมพลัมเมอร์ พัปส์ (Plumber Pups) จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรางวัลทีมนำเสนอดีเด่น ได้แก่ ทีมโครนอสบีส์ (Kronosbees) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


สำหรับทีมตัวแทนประเทศไทยจะได้เข้าร่วมการแข่งขันในรายการ The 5th Kibo Robot Programming Challenge รอบชิงแชมป์นานาชาติ ที่ศูนย์อวกาศสึกุบะ ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ทั้งนี้เยาวชนที่เข้าร่วมการแข่งขันจะได้มีโอกาสใกล้ชิดกับนักบินอวกาศอวกาศญี่ปุ่น และได้สัมผัสกับประสบการณ์ล้ำค่าในศูนย์อวกาศสึกุบะซึ่งเป็นศูนย์ปฏิบัติการขององค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น อีกทั้งยังเป็นสถานที่หลักสำหรับปฏิบัติการโครงการวิจัยอวกาศของญี่ปุ่น และฝึกฝนนักบินอวกาศชาวญี่ปุ่นที่ขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่ในสถานีอวกาศนานาชาติ 


ผู้สนใจติดตามข่าวความเคลื่อนไหวโครงการ Kibo Robot Programming Challenge ครั้งที่ 5 ได้ที่เว็บไซต์ https://www.nstda.or.th/spaceeducation หรือเฟซบุ๊ก NSTDA SPACE Education


ที่มาข้อมูลและรูปภาพ หมายข่าวประชาสัมพันธ์ สวทช. 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง