รีเซต

สหรัฐฯ ลั่น ! เอกชนต้องพร้อมสร้าง-ส่งดาวเทียมใน 60 ชั่วโมง !

สหรัฐฯ ลั่น ! เอกชนต้องพร้อมสร้าง-ส่งดาวเทียมใน 60 ชั่วโมง !
TNN ช่อง16
4 กันยายน 2566 ( 22:52 )
76
สหรัฐฯ ลั่น ! เอกชนต้องพร้อมสร้าง-ส่งดาวเทียมใน 60 ชั่วโมง !

ดาวเทียม (Satellite) เป็นหนึ่งในยุทโธปกรณ์ทางการทหารที่สำคัญของโลก รวมถึงในประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาด้วย ซึ่งล่าสุด กองทัพอวกาศของสหรัฐฯ (U.S. Space Force) ได้ประกาศให้บริษัทไฟร์ฟลาย (FireFly Aerospace) บริษัทขนส่งอวกาศ และมิลเลนเนียม (Millennium Space Systems) บริษัทผู้สร้างดาวเทียม เข้าสู่สถานะพร้อมปฏิบัติการ (Hot Standby) สำหรับภารกิจทางกองทัพ โดยมีกรอบเวลาผลิตจนถึงสถานะปล่อยดาวเทียมให้เพียง 60 ชั่วโมง เท่านั้น ซึ่งนับเป็นกรอบเวลาที่ท้าทายมาก เมื่อเทียบกับกระบวนการในการสร้างปกติที่ต้องใช้เวลานับเดือนหรือปีในการผลิต 


“ปล่อยดาวเทียมใน 60 ชั่วโมง” ส่วนหนึ่งของโครงการใหม่กองทัพสหรัฐฯ

โดยความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ของกองทัพอวกาศสหรัฐ เป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบสาธิตภายใต้โครงการที่ชื่อว่า วิกตัส น็อกซ์ (Victus Nox) ซึ่งเป็นภาษากรีกที่แปลว่า “คว้าชัยในยามค่ำคืน” ซึ่งเป็นภารกิจที่ต้องการตอบโต้ภัยคุกคามในอวกาศหรือความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาโดยเร็วที่สุด


โดยแผนงานดังกล่าวจะเป็นการดึงขีดความสามารถร่วมกับภาคเอกชนในประเทศ ซึ่งในการดำเนินงานสาธิตครั้งนี้เป็นหน้าที่ของบริษัท มิลเลนเนียม ในการสร้างดาวเทียม ก่อนส่งมอบให้กับไฟร์ฟลาย ภายใน 60 ชั่วโมง นับตั้งแต่ทางกองทัพอวกาศฯ แจ้งให้ดำเนินการ


ขั้นตอนการ “ปล่อยดาวเทียมใน 60 ชั่วโมง”

หลังจากส่งต่อดาวเทียมไปยังฐานทัพอวกาศที่แวนเดอร์เบิร์ก ( Vandenberg Space Force Base) ในแคลิฟอร์เนียแล้ว ทางไฟร์ฟลายจะเข้ามาจัดการติดตั้งบนส่วนบรรทุกสัมภาระของจรวดอัลฟา (Alpha rocket) และเติมเชื้อเพลิงและประสานกำหนดขั้นตอนกับกองทัพเพื่อเตรียมพร้อมส่งไปยังอวกาศ และเมื่อส่งขึ้นสู่อวกาศแล้ว ไฟร์ฟลายมีเวลา 2 วัน ในการติดต่อกับดาวเทียมเพื่อเริ่มภารกิจต่อไป


โดยทางกองทัพอวกาศสหรัฐฯ ต้องการให้โครงการวิกตัส น็อกซ์ อยู่ในสถานะที่พร้อมทำงานได้จริงภายในปี 2026 นี้ เพื่อเสริมขีดความสามารถการครองพื้นที่อวกาศและความเป็นต่อในด้านดาวเทียม ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจของการรบและการจัดการภัยคุกคามจากทั้งในและนอกโลกที่อาจจะมีต่อสหรัฐอเมริกาเอาไว้ต่อไป



ที่มาข้อมูล Defense News

ที่มารูปภาพ FireFly Aerospace

ข่าวที่เกี่ยวข้อง