รีเซต

ทดสอบต้นแบบเครื่องบินอวกาศติดตั้งเครื่องยนต์จรวดเป็นครั้งแรก

ทดสอบต้นแบบเครื่องบินอวกาศติดตั้งเครื่องยนต์จรวดเป็นครั้งแรก
TNN ช่อง16
13 เมษายน 2566 ( 15:40 )
101

บริษัท ดอร์น แอร์โรสเปซ (Dawn Aerospace) ประเทศนิวซีแลนด์ ประสบความสำเร็จในการติดตั้งเครื่องยนต์จรวดเข้ากับ Mk-II Aurora ต้นแบบเครื่องบินอวกาศลำแรกของบริษัท หลังจากก่อนหน้านี้ในปี 2021 บริษัทประสบความสำเร็จในการทดสอบต้นแบบเครื่องบินอวกาศรุ่นดังกล่าวจำนวน 5 เที่ยวบิน ในระดับความสูงประมาณ 3,400 ฟุต หรือประมาณ 1 กิโลเมตร โดยใช้เครื่องยนต์ไอพ่น


การทดสอบต้นแบบเครื่องบินอวกาศ Mk-II Aurora โดยใช้เครื่องยนต์จรวดที่มีเชื้อเพลิงเป็นไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์และน้ำมันก๊าด มีขึ้นบริเวณสนามบิน Glentanner ประเทศนิวซีแลนด์ จำนวน 3 เที่ยวบินในระหว่างวันที่ 29-31 มีนาคม ในระดับความสูงประมาณ 6,000 ฟุต หรือประมาณ 1.8 กิโลเมตร โดยใช้ความเร็วประมาณ 315 กิโลเมตรต่อชั่วโมง


การทดสอบต้นแบบในครั้งนี้นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของบริษัทเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเครื่องยนต์จรวดสำหรับเครื่องบินอวกาศในอนาคต โดยทาง Stefan Powell ซีอีโอของบริษัท ดอร์น แอร์โรสเปซ (Dawn Aerospace) ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า


"เครื่องบินต้นแบบแสดงให้เห็นถึงการนำเครื่องบินอวกาศกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างรวดเร็วในการทดสอบครั้งแรก ถือเป็นข้อพิสูจน์ถึงหลักแนวคิดการพัฒนาเทคโนโลยีของบริษัท ดอร์น แอร์โรสเปซ (Dawn Aerospace) และเป็นการยืนยันว่ายานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยจรวดสามารถใช้งานได้เหมือนกับเครื่องบินเจ็ทเชิงพาณิชย์"


เป้าหมายในอนาคตบริษัท ดอร์น แอร์โรสเปซ (Dawn Aerospace) คือ การพัฒนาเครื่องบินอวกาศ Mk-III ใช้การทำงานแบบ 2 ขั้นตอน บรรทุกดาวเทียมหรือยานอวกาศน้ำหนักมากกว่า 1 ตัน ไปยังระดับใต้วงโคจรโลก หรือบรรทุกดาวเทียมน้ำหนัก 250 กิโลกรัมไปวงโคจรต่ำของโลก (LEO) 


สำหรับเครื่องบินอวกาศ (Spaceplane) หมายถึง อากาศยานที่สามารถบินขึ้นทำภารกิจอวกาศในระดับวงโคจรขนส่งนักบินอวกาศหรือดาวเทียม เครื่องบินอวกาศส่วนใหญ่ถูกออกแบบให้ขับเคลื่อนด้วยจรวดสามารถบินขึ้นสู่อวกาศและเดินทางกลับโลกในลักษณะคล้ายกับเครื่องบินลงจอดในสนามบิน เครื่องบินอวกาศมีจุดเด่นในด้านของการนำเครื่องบินกลับมาใช้งานใหม่ อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีเครื่องบินอวกาศยังคงอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาเพื่อให้ถูกนำมาใช้งานจริงในอนาคต




ที่มาของข้อมูล Newatlas 

ที่มาของรูปภาพ Dawnaero Space 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง