รีเซต

รู้จัก! การจัดเก็บและขนส่งวัคซีนโควิด-19 ตามมาตรฐานสากล

รู้จัก! การจัดเก็บและขนส่งวัคซีนโควิด-19 ตามมาตรฐานสากล
Ingonn
30 มิถุนายน 2564 ( 15:01 )
460
รู้จัก! การจัดเก็บและขนส่งวัคซีนโควิด-19 ตามมาตรฐานสากล

จากการพบวัคซีนซิโนแวค 110 ขวดเป็นเจลใส เพราะเก็บรักษาโดยใช้อุณหภูมิเย็นเกินไป แต่ไม่อันตราย สามารถนำมาใช้ฉีดต่อได้ โดยล่าสุด กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับ แนวทางการจัดเก็บและขนส่งวัคซีนโควิด-19 เป็นไปตามมาตรฐานสากล (องค์การอนามัยโลก) โดยวัคซีน CoronaVac ผลิตโดยบริษัทซิโนแวค เป็นยาน้ำแขวนตะกอนขาวขุ่น จึงต้องเขย่าให้เข้ากันก่อนใช้ และต้องเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสเท่านั้น

 

 


หลังจากมีข่าวซิโนแวคกลายเป็นเจลเกิดขึ้น ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถามถึงการจัดเก็บวัคซีนในอุณหภูมิที่ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพต่อวัคซีนโควิด ว่าต้องจัดเก็บอย่างไร มีขั้นตอนอะไรบ้าง วันนี้ TrueID ได้นำข้อมูลจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติมาไว้ให้แล้ว

 

 


ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพของวัคซีน


วัคซีนเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากสิ่งที่มีชีวิตหรือที่ได้จากการสังเคราะห์หรือกระบวนการอื่นและนำมาใช้ในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันโรคของมนุษย์ การที่วัคซีนจะคงสภาพและความแรงอยู่ได้นั้นมีปัจจัยสำคัญอยู่ 3 ประการคือ ความร้อน ความเย็น และแสง

 

 

1. ความร้อน


วัคซีนทุกชนิดจะสูญเสียคุณภาพถ้าสัมผัสกับความร้อน แต่วัคซีนชนิดต่าง ๆ จะไวต่อความร้อนไม่เท่ากัน ชนิดที่ไวต่อความร้อนมากที่สุด ต้องเก็บในช่องแช่แข็ง -15 ถึง -25 องศาเซลเซียส

 


2. ความเย็นจัด (freeze sensititvity)


วัคซีนบางชนิดมีความไวต่อความเย็นจัด ในขณะที่มีความไวต่อความร้อนจัดเช่นเดียวกัน วัคซีนกลุ่มนี้ถ้าเกิดการแข็งตัวที่อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส จะทำให้วัคซีนสูญเสียความแรงและเสื่อมสภาพทันที

 


3. แสง (light sensitivity)


วัคซีนชนิดผงแห้ง (freeze dried vaccine) เช่น BCG, MMR, MRและJE (เชื้อเป็น) เป็นวัคซีนที่ไวต่อความร้อนแล้วยังไวต่อแสงด้วย ทั้งแสงจากดวงอาทิตย์และแสง fluorescent จะเสื่อมเร็วขึ้นหากผสมกับน้ำยาทำละลายแล้ว

 

 

สรุปผลของอุณหภูมิที่มีวัคซีน


- วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ จะชอบความเย็นจัด และจะเสื่อมสภาพเร็วเมื่อสัมผัสความร้อน


- วัคซีนเชื้อตายและท็อกซอยด์ จะเสื่อมสภาพทันที่เมื่อสัมผัสความเย็นจัด

 

 

 

แนวทางการจัดเก็บและขนส่งวัคซีนโควิด-19 เป็นไปตามมาตรฐานสากล (องค์การอนามัยโลก)

 

1.มีระบบติดตามควบคุมอุณหภูมิการจัดเก็บ พร้อมข้อมูลการแสดงผลแบบ real time เพื่อสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลาจัดเก็บ

 


2.มีอุปกรณ์ติดตามการจัดเก็บและขนส่งวัคซีนตามมาตรฐาน เช่น เทอร์โมมิเตอร์

 


3.จัดเก็บในคลังหรือตู้เย็นที่มีพื้นที่เพียงพอ อุณหภูมิถ่ายเทเหมาะสม โดยเฉพาะกรณีตู้เย็น ให้จัดเก็บที่ตรงกลางตู้เย็น เพื่อให้อยู่ในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส และห่างจากจุดปล่อยความเย็น ไม่ควรจัดเก็บที่ถาดรองใต้ช่องแช่แข็งหรือชั้นที่ติดกับชั้นแช่แข็งเด็ดขาด เพราะอาจทำให้อุณหภูมิต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส

 


4.ในกระบวนการบรรจุวัคซีนเพื่อขนส่งมีระบบ Conditioning ice pack หรือ gel pack โดยนำ ice pack หรือ gel pack ที่แช่แข็งมาตั้งทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องประมาณ 15-30 นาที สังเกตให้มีหยดน้ำเกาะก่อนบรรจุ รวมทั้งขณะบรรจุจะต้องมีอุปกรณ์กั้น เช่น กระดาษ เพื่อไม่ให้ ice pack หรือ gel pack สัมผัสกับวัคซีนโดยตรง ขั้นตอนนี้จะป้องกันไม่ให้วัคซีนมีอุณหภูมิติดลบก่อนถึงหน่วยบริการ

 


5.มีแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินและระบบแจ้งเตือน กรณีเหตุการณ์ฉุกเฉินในระบบลูกโซ่ความเย็น ที่อุณหภูมิจัดเก็บเปลี่ยนแปลงต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส หรือ สูงกว่า 8 องศาเซลเซียส

 

 

ทั้งนี้ ทุกขั้นตอนมีบุคลากรวิชาชีพสาขาต่างๆ เช่น แพทย์ เภสัชกร พยาบาล ดูแลความถูกต้องของผลิตภัณฑ์และการฉีดวัคซีน ซึ่งก่อนให้บริการฉีดวัคซีนมีการตรวจเช็คก่อนฉีดให้กับประชาชน และปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพของตนเองทุกประการ

 

 

 

นอกจากนั้นยังมี ระบบหนึ่งที่เข้ามาช่วยในการรักษาสภาวะที่เหมาะสมกับวัคซีน คือ “ระบบลูกโซ่ความเย็น (Cold Chain System)” คือระบบการออกแบบและจัดการที่จะทำให้วัคซีนอยู่ในอุณหภูมิที่ถูกต้องเหมาะสมตลอดเวลาทั้งในขณะจัดเก็บและขนส่งวัคซีนจนกระทั่งถึงหน่วยบริการ และรวมถึงขั้นตอนในขณะให้บริการที่ต้องนำวัคซีนที่มีอยู่ในสภาพที่เหมาะสมเข้าสู่ร่างกายผู้รับบริการ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสุงสุดของวัคซีน

 

 


อุปกรณ์ที่ใช้จัดเก็บวัคซีน


1.ตู้เย็น

คลังวัคซีนระดับอำเภอและสถานบริการส่วนใหญ่ใช้ตู้เย็นบ้าน (Domestic Refrigerator) ที่ต้องได้มาตรฐานอุตสาหกรรม(มอก.) จะเป็นตู้เย็นฝาประตูทึบแสงชนิด 2 ประตูแยกช่องแช่แข็ง และช่องธรรมดา หรือเป็นฝาเดียวขึ้นกับการใช้งาน และปัจจุบันมีตู้เย็นบ้านที่มีช่องแช่แข็งด้านล่าง เมื่อซื้อมาใช้งานให้ศึกษาระบบการกระจายความเย็นของแต่ละชนิดให้ดี เพื่อจะได้จัดวางวัคซีนได้ถูกต้อง

 

 

การจัดเรียงวัคซีนในตู้เย็น ควรจัดเก็บวัคซีนไว้ในตะกร้าโปร่งเพื่อให้ความเย็นไหลเวียนได้ทั่วถึง วัคซีนที่ไวต่อแสงให้ใส่ไว้ในกล่องหรือภาชนะที่ป้องกันแสง และวางวัคซีนที่ไวต่อความเย็นจัดไว้ตรงกลางของช่องธรรมดา พร้อมเทอร์โมมิเตอร์ เพื่อกำกับติดตามอุณหภูมิไม่ให้ต่ำกว่า +2°C และติดป้ายชื่อที่ชั้นวางวัคซีนเพื่อป้องกันการหยิบวัคซีนผิด  

 

 

 

 

 

2.หีบเย็น (Vaccine cold box)

หรือกระติกวัคซีนใบใหญ่เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เก็บวัคซีนในระหว่างการขนส่ง หรือเมื่อมีไฟฟ้าดับนาน/ตู้เย็นเสีย หรือในระหว่างการละลายน้ำแข็งในช่องแช่แข็ง

 

 

3.กระติกวัคซีน (Vaccine carrier)

เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการขนส่งหรือเก็บวัคซีนไว้ชั่วคราวเหมือนหีบเย็น แต่มีขนาดเล็กกว่า และเก็บความเย็นได้ไม่นานเท่าหีบเย็น ควรมี Icepack ที่มีขนาดพอดีที่จะจัดเรียงลงในกระติกโดยไม่เคลื่อนไปมา

 

 

4.ซองน้ำแข็ง(Icepack)

คือซองพลาสติกมีฝาปิดที่ใส่น้ำถึงระดับที่บ่งชี้และนำไปแช่แข็ง ก่อนนำมาใช้บรรจุวัคซีนที่ไวต่อความเย็นจัด 

 

การนำ Icepack ออกมาวางในอุณหภูมิห้องในช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อทำให้น้ำแข็งที่อยู่ใน Icepack มีอุณหภูมิกลับมาที่  0 องศาเซลเซียส ดังนี้


- วาง Icepack บนโต๊ะ/เคาน์เตอร์ เรียงเป็นแถวเดี่ยว แต่ไม่ควรมากกว่า 2 แถว


- วาง Icepack ให้มีพื้นที่ว่างรอบๆ แต่ละก้อนประมาณ 5 ซม.


- เขย่าIcepack แต่ละก้อนทุก 2-3 นาที จนมีน้ำจำนวนเล็กน้อย ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงในอุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส และใช้เวลาน้อยลงในอุณหภูมิที่สูงกว่า 


- ในระหว่างให้บริการห้ามนำวัคซีนไปวางบน Icepackโดยตรง

 

 


Shake test เช็กประสิทธิภาพวัคซีน


การตัดสินใจว่าจะใช้วัคซีนที่ไวต่อความเย็นจัดนั้นได้หรือไม่ ต้องทำการทดสอบคุณภาพของวัคซีนโดยการทำ Shake test หรือการทดสอบคุณภาพของวัคซีนที่สงสัยว่าผ่านการแช่แข็ง โดยวัคซีนชนิดน้ำที่มี Alum ซึ่งเป็น Adjuvant (สารเพิ่มการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน)ผสมอยู่ จะเสื่อมสภาพหรือสูญเสียความแรงได้ถ้าอยู่ในอุณหภูมิที่ทำให้แข็งตัว ดังนั้นถ้าสงสัยว่าวัคซีนอาจถูกแช่แข็ง ให้ทำการทดสอบโดยการสังเกตลักษณะทางกายภาพของวัคซีน

 

 

แช่แข็งวัคซีน 1 ขวด เพื่อเป็น Control (Lot.no. เดียวกัน, ผู้ผลิตเดียวกัน) เมื่อวัคซีนแช่แข็งเต็มที่แล้ว นำออกมาวางนอกตู้เย็นให้ละลาย เมื่อละลายแล้ว เขย่าดูการตกตะกอนเปรียบเทียบกับวัคซีนขวดที่สงสัยว่าถูกแช่แข็ง

 

ภาพจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ

 

 


วัคซีนซิโนแวคกลายเป็นเจลใส ไม่หายไปหลังการเขย่า เพราะอะไร


หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางกระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบแล้วว่า ปัญหาดังกล่าวอาจเกิดจากกระบวนการก็บรักษาและการขนส่งที่ไม่ควบคุมอุณหภูมิให้เป็นไปตามที่ได้รับอนุมัติ คืออุณหภูมิ 2 – 8 องศาเซลเซียส โดยคำแนะนำสำหรับการเก็บรักษาวัคชีนโควิด-19 ของบริษัท Sinovac Life Sciences จำกัด ให้เก็บไว้ที่ชั้นกลางหรือชั้นที่ 2 ของตู้เย็น และห่างจากจุดปล่อยความเย็น การเก็บที่อุณหภูมิต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสหรือติดลบ จะทำให้วัคซีนเสื่อมสภาพและไม่สามารถนำไปฉีดให้กับประชาชนได้

 

 

องค์การอนามัยโลกแจ้งไว้ว่า วัคซีนเชื้อตายที่มีอะลูมินัม รวมถึงวัคซีนทุกยี่ห้อ หากจัดเก็บในอุณหภูมิที่ต่ำเกินไป จะมีความเปลี่ยนแปลง บางยี่ห้อหากเปลี่ยนแล้วไม่สามารถสังเกตได้ แต่ถ้าวัคซีนเชื้อตายหากมีการเปลี่ยนแปลงจะมองเห็นได้ง่าย

 


สำหรับผู้ให้บริการจำเป็นต้องตรวจสอบลักษณะทางกายภาพของวัคซีนทุกขวดก่อนใช้ หากพบเห็นการเกิดตะกอนที่ผิดปกติ เช่น เขย่าแล้วไม่ละลายเป็นเนื้อเดียวกัน หรือเห็นเป็นเม็ดตะกอนเล็กๆ กระจายไปทั่ว หรือตกตะกอนอย่างเร็ว ห้ามใช้วัคซีนขวดนั้น และแจ้งประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือกรมควบคุมโรค โดยระบุลักษณะของวัคซีนและสาเหตุที่เกิดขึ้น ชื่อวัคซีน รุ่นการผลิต รายละเอียดของเหตุการณ์ อุณหภูมิสุดท้ายของวัคซีนที่จัดเก็บก่อนพบความผิดปกติ พร้อมรูปถ่าย เพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริงต่อไป (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โทร. 02 951 0000 ต่อ 99940 และสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422)

 

 

 


ข้อมูลจาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ , กรมควบคุมโรค , สถาบันวัคซีนแห่งชาติ , Hfocus

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง