เส้นทางการขนส่งวัคซีนโควิด-19 ที่ต้องรู้ก่อนฉีดจริง!
วัคซีนโควิด-19 เป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการปัญหาโควิด-19 ทั้งการลดความสูญเสียจากการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต ลดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและยังช่วยลดการติดเชื้อที่สามารถแพร่กระจายสู่สังคมได้อีกด้วย แต่กว่าวัคซีนโควิด-19 จะเดินทางมาถึงไทยหลายพันไมล์นั้นจากบริษัทผู้ผลิตนั้น ล้วนมีเส้นทางการขนส่งที่ควรรู้ไว้
วันนี้ True ID จึงรวบรวมการขนส่งและกระจายวัคซีนโควิด-19 ในสถานการณ์ฉุกเฉิน จากบริษัทผู้ผลิต ส่งถึงคนไทยทุกคนอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ สามารถนำมาฉีดได้ทันที แต่ก่อนเราจะรู้เส้นทาง เราต้องรู้ด้วยว่าวัคซีนนั้นทำงานอย่างไรบ้าง
การทำงานของวัคซีนโควิด-19
กลไกธรรมชาติของร่างกายเมื่อได้รับเชื้อก่อโรคจะสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคนั้นๆและระบบภูมิคุ้มกันจะสามารถจดจำเชื้อโรคนั้นได้ ดังนั้น เมื่อร่างกายได้รับเชื้ออีกในอนาคตร่างกายที่ได้จดจำเชื้อโรคจะสร้างภูมิคุ้มกันมาต่อสู้กับเชื้อโรคได้ในเวลาอันรวดเร็วและทันท่วงที
ซึ่งวัคซีนโควิด-19 มีการพัฒนาเพื่อจำลองกระบวนการของร่างกายเวลาติดเชื้อโควิด-19 โดยการใช้เชื้อที่ถูกทำให้หมดฤทธิ์ หรือใช้ส่วนของเชื้อไวรัส หรือสารสังเคราะห์ ซึ่งไม่สามารถก่อโรคในร่างกายแก่ผู้รับวัคชีน แต่ยังมีคุณสมบัติในการกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันไม่ต่างไปจากการติดเชื้อโรคจริง
วัคซีนโควิด-19 ส่วนใหญ่ต้องฉีด 2 ครั้ง เพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันให้เพียงพอและอยู่นานโดยเว้นระยะระหว่างเข็มแตกต่างกัน ซึ่งมักเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 2 สัปดาห์ถึง 3 เดือน ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มในระยะห่างที่เหมาะสม ถึงจะมั่นใจว่า ร่างกายมีภูมิคุ้มกันเพียงพอป้องกันโรคได้ แม้วัคซีนจะถูกฉีดเป็นรายคน แต่ก็มีประโยชน์ในการปกป้องคนใกล้ชิดที่มีความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงได้อีกด้วย
การเดินทางของวัคซีนโควิด-19
1.ผู้ผลิตวัคซีนบรรจุวัคซีนในหีบห่อที่รักษาอุณหภูมิให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม เช่น เก็บที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส เพื่อป้องกันวัคซีนเสื่อมสภาพ
2.เมื่อวัคซีนถึงสนามบินในประเทศ วัคซีนจะถูกขนไปยังคลังเก็บสินค้าควบคุมอุณหภูมิภายในประเทศ (DKSH) จากนั้นวัคซีนจะถูกตรวจสอบสภาพหีบห่อและตรวจนับ จำนวนใช้เวลาประมาณ 1 วัน
3.องค์การเภสัชกรรมจะนำส่งตัวอย่างวัคซีนจำนวนหนึ่งให้กับสถาบันชีววัตถุกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งวัคซีนจะถูกตรวจสอบสภาพ จำนวน และอุณหภูมิขณะขนส่งอีกครั้ง เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพของวัคซีนก่อนการทดสอบทางห้องปฏิบัติการ
4.การวิเคราะห์คุณภาพของวัคซีนในห้องปฏิบัติการ จะดำเนินไปพร้อมกับพิจารณาเอกสารข้อมูลการผลิตและการควบคุมคุณภาพของผู้ผลิต (Summary Production Protocol) ที่ผู้ผลิตส่งมา ทราบผลการวิเคราะห์ในเวลา 2 วัน จากนั้นจะออกหนังสือรับรองรุ่นการผลิตให้กับองค์การเภสัชกรรม ซึ่งเป็นผู้นำเข้าวัคซีน ก่อนที่องค์การเภสัชกรรมจะส่งมอบให้กับกรมควบคุมโรค
5.กรมควบคุมโรคร่วมกับบริษัทผู้นำเข้าวัคซีน บริษัทขนส่ง และโรงพยาบาลเป้าหมายประสานงานร่วมกัน ขนส่งวัคซีนไปยังจุดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยวัคซีนถูกบรรจุในกล่องบรรจุตามมาตรฐานการขนส่งวัคซีน มีการควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสม
ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน ขึ้นอยู่กับพื้นที่ในการจัดส่ง หลังจากนั้นทางโรงพยาบาลต่างๆ จะเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนตามที่ได้ลงทะเบียนนัดไว้ ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดนับจากวัคซีนมาถึงเมืองไทยจนนำไปฉีดให้กับประชาชนจะใช้เวลาไม่เกิน 7 วัน
ทั่วโลกฉีดไปกว่าพันล้านโดส
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยข้อมูลสถิติการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลกแล้ว 1,195 ล้านโดส ใน 194 ประเทศ/เขตปกครอง โดยขณะนี้อัตราการฉีดล่าสุดรวมกันทั่วโลกที่ 19.8 ล้านโดสต่อวัน และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เมื่อพิจารณารายประเทศพบว่าอิสราเอลได้ฉีดวัคซีนครอบคลุมเกินครึ่งของประชากรแล้ว ในขณะที่สหรัฐอเมริกามีจำนวนการฉีดวัคซีนสูงที่สุดที่ 248 ล้านโดส โดยมีชาวอเมริกันกว่า 106 ล้านคนได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว
ด้านอาเซียนขณะนี้ทุกประเทศได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แล้ว มียอดรวมกันที่ประมาณ 32.7 ล้านโดส โดยสิงคโปร์ฉีดวัคซีนในสัดส่วนประชากรมากที่สุดในภูมิภาค (19.5% ของประชากร) ในขณะที่อินโดนีเซียฉีดวัคซีนในจำนวนมากที่สุดที่ 20.9 ล้านโดส
ประเทศที่ฉีดวัคซีนแล้วมากที่สุด 3 ประเทศลำดับแรกที่ฉีดวัคซีนมากกว่า 100 ล้านโดส รวมกันเกือบ 60% ของปริมาณการฉีดวัคซีนทั่วโลก
1. จีน จำนวน 279.91 ล้านโดส (10% ของจำนวนการฉีดทั่วโลก)
2. สหรัฐอเมริกา จำนวน 247.77 ล้านโดส (38.6%)
3. อินเดีย จำนวน 160.42 ล้านโดส (5.9%)
วัคซีนโควิด-19 ที่คนไทยได้รับ
จำนวนการได้รับวัคซีนสะสม (28 ก.พ. - 5 พ.ค. 2564)
รวม 1,601,833 โดส ใน 77 จังหวัด
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 : 1,167,719 ราย
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 : 434,114 ราย
ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 , คู่มือวัคซีนสู้โควิด ฉบับประชาชน จากไทยรู้สู้โควิด , กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข , กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เปิดจุดฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกโรงพยาบาล มีที่ไหนบ้างเช็กเลย!
- ส่องวัคซีนโควิด-19 “โมเดอร์นา- Moderna” ก่อนเข้าฉีดจริงในไทยไม่เกิน พ.ค. นี้
- เตรียมตัวให้พร้อม! ก่อนเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19
- รู้จัก ม.41 "แพ้วัคซีนโควิด-19" รัฐดูแลสูงสุด 4 แสนบาท!