รีเซต

น้ำประปาเค็ม อย่าต้ม! แพทย์เผยดื่มได้ แต่กลุ่มเสี่ยงต้องระวัง

น้ำประปาเค็ม อย่าต้ม! แพทย์เผยดื่มได้ แต่กลุ่มเสี่ยงต้องระวัง
TNN ช่อง16
2 กุมภาพันธ์ 2564 ( 17:22 )
1.1K

หลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ประสบปัญหาน้ำประปามีรสกร่อย เนื่องจากสภาวะภัยแล้งและน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้มีน้ำเค็มผ่านเข้าระบบน้ำดิบในการผลิตน้ำประปา ซึ่งยังคงอยู่ในขั้นที่ยังใช้เพื่อการอุปโภคได้ตามปกติ 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากการประปานครหลวง ระบุว่า ประชาชนจะสามารถรับรู้รสชาติของน้ำประปาที่เปลี่ยนแปลงไป หรือ รสกร่อย เมื่อค่ามาตรฐานในน้ำประปาเป็นดังต่อไปนี้

1. โซเดียม (Sodium) ในน้ำประปาเกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยโซเดียมมีความสำคัญในการควบคุมสมดุลของเหลวในร่างกาย ช่วยในการทำงานของประสาทและกล้ามเนื้อ ตลอดจนการดูดซึมของอาหาร

2. คลอไรด์ (Chloride) ในน้ำประปาเกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยคลอไรด์มีความสำคัญในการควบคุมสมดุลของเหลวในร่างกาย ปริมาณเลือด ความดันโลหิต และความเป็นกรดด่าง 

3. ความเค็ม (Salinity) ในน้ำประปาสูงเกิน 0.5 กรัมต่อลิตร โดยความเค็มเกิดจากปริมาณของแข็งหรือเกลือแร่ต่างๆ โดยเฉพาะโซเดียมคลอไรด์ที่ละลายอยู่ในน้ำ

4. TDS ในน้ำประปาเกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อลิตร โดย TDS หรือ Total Dissolved Solids คือปริมาณของของแข็งที่ละลายอยู่ในน้ำ รวมถึงไอออน แร่ธาตุ เกลือ หรือโลหะ มีหน่วยเป็นมิลลิกรัมต่อลิตร

5. ความนำไฟฟ้า (Conductivity) สูงเกิน 1,200 โมโครซีเมนส์ต่อเซนติเมตร (µs/cm) ค่าความนำไฟฟ้า เป็นความสามารถของน้ำในการส่งผ่านกระแสไฟฟ้า ซึ่งเกิดจากสารประกอบอนินทรีย์ที่ละลายอยู่ในน้ำ 


ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ให้ความรู้กับทีมข่าว TNN ONLINE ถึงผลกระทบของการดื่มน้ำประปาเค็ม รวมทั้งวิธีแก้ปัญหาเบื้องต้น

ไข 2 สาเหตุ น้ำประปาเค็ม เกิดจากอะไร?

น้ำประปาเค็ม โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากแหล่งน้ำดิบ ซึ่งในปีที่แล้วและปีนี้ มีการคาดการณ์ทั้งเรื่อง "น้ำหนุนสูงจากทะเล" และเข้าสู่ระบบน้ำดิบของแม่น้ำเจ้าพระยาที่การประปาน้ำมาใช้ และอีกส่วนมาจาก "ภัยแล้ง" เมื่อน้ำทะเลหนุนสูงจะปล่อยน้ำจากเขื่อนมาดันน้ำเค็มที่หนุนสูงไม่ให้ทะลักขึ้นมา เพราะฉะนั้นเมื่อใดก็ตามมีทั้งภัยแล้ง น้ำทะเลหนุนสูง จะทำให้คุณภาพน้ำดิบที่นำมาผลิตประปาได้รับผลกระทบ และกระบวนการผลิตน้ำประปายังไม่สามารถจัดการความเค็มนี้ได้ เพราะน้ำประปามีระดับค่าของความเค็มที่เรียกว่า "กร่อย" เพิ่มมากขึ้น 

นพ.สุวรรณชัย ระบุว่า ถัดจากช่วงนี้ไป เมื่อเริ่มเข้าหน้าฝน ปริมาณน้ำที่เกิดจาฝนตกก็จะตกมาตามเขื่อนมีการปล่อยดันน้ำทะเลให้ออกไป แต่ไม่ได้หมายความว่า โรงผลิตน้ำประปาจะได้รับผลกระทบทุกแห่ง เพราะขึ้นอยู่กับว่าแต่ละแห่งใช้แหล่งน้ำจากที่ใด บางโรงผลิตใช้แหล่งน้ำที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุนสูง น้ำก็จะไม่เกิดความกร่อย


อย่าตระหนก! ดื่มน้ำกร่อย 8 แก้ว ยังไม่เกินกำหนดร่างกาย

สำหรับในทางการแพทย์นั้น กำหนดให้มนุษย์รับโซเดียมเข้าสู่ร่างกายได้ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน โดยในปกติการผลิตน้ำประปาจะผลิตให้โซเดียมไม่เกิน 100-150 มิลลิกรัมต่อลิตร ขณะที่ คนดื่มน้ำ 1.5-2 ลิตร หรือ 6-8 แก้ว เพราะฉะนั้น ถ้าดื่มน้ำประปาตามปกติ จะได้รับโซเดียมเพียง 200-300 มิลลิกรัมต่อลิตรเท่านั้น

แต่ขณะที่ช่วงนี้เกิดน้ำประปาเค็ม ซึ่งอาจทำให้โซเดียมในน้ำประปาเกินปกติเป็น 200 มิลลิกรัมต่อลิตร และหากดื่มน้ำตามปกติ 1.5-2 ลิตร หรือ 6-8 แก้ว ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อลิตรเท่านั้น

"ในชีวิตประจำวัน เราได้รับโซเดียมในอาหารมากกว่าการดื่มน้ำ เพียงแต่อาจไม่สังเกต ซึ่งคนไทยชอบทานอาหารที่ใส่สารปรุงรสต่างๆ เช่น ก้อนปรุงรส น้ำปลา เกลือ เหล่านี้มีเกลือแกงหรือโซเดียมผสมอยู่ นอกจากนี้ เด็กๆ หรือผู้ใหญ่ มักจะชอบกินขนมกรุบกรอบต่างๆ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งมีปริมาณโซเดียมผสมอยู่เยอะ 

ดังนั้น หากดื่มน้ำประปาในช่วงที่มีรสกร่อย คนปกติบริโภคประมาณ 2 ลิตร ถือว่าไม่ได้รับโซเดียมมากเกินจนกระทั่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว


คนกลุ่มเสี่ยง ดื่มน้ำประปาเค็มต้องระวัง!

นพ.สุวรรณชัย ระบุด้วยว่า มีกลุ่มคนบางกลุ่มมีร่างกายไวต่อระดับเกลือโซเดียมที่เพิ่มขึ้น เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยและผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต หัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิต ตลอดจนผู้ป่วยโรคทางสมอง สัตว์เลี้ยงขนาดเล็ก หรือกลุ่มที่ผู้ป่วยที่แพทย์แนะนำว่าไม่ควรบริโภคเกลือ โซเดียมมากเกินไป ต้องระมัดระวัง เพราะอาจได้รับปริมาณโซเดียม หรือความเค็มเกินปริมาณที่สามารถบริโภคได้ และอาจจะส่งผลกระทบกับภาวะโรคที่เป็นอยู่

น้ำประปาเค็ม นำไปต้ม ยิ่งทำให้เค็ม!

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า การที่นำน้ำประปาเค็มไปต้มนั้น ไม่ช่วยให้หายเค็ม และหากนำไปต้มด้วยอุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส สิ่งที่ระเหยคือน้ำ แต่ตัวเกลือไม่ได้ระเหยไปด้วย เพราะฉะนั้น ยิ่งทำให้น้ำระเหยไปมากเท่าไร ยิ่งทำให้สัดส่วนความเค็ม หรือ ความกร่อยเพิ่มมากขึ้น

เช่น จากเดิมน้ำ 1 ลิตรมีเกลือ 200 มิลลิกรัม แต่เมื่อต้มไปน้ำระเหย จะทำให้เหลือน้ำครึ่งลิตร เกลือ 200 มิลลิกรัมเท่าเดิม เพราะฉะนั้น "การต้มไม่ได้ช่วยให้น้ำประปาหายเค็ม"


วิธีแก้ไขน้ำประปาเค็ม ผู้บริโภคต้องทำอย่างไร?

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า การกรองน้ำด้วยระบบ RO (Reverse Osmosis) เป็นระบบการกรองเป็นชั้น ๆ กล่าวคือ จะกรองตะกอนหยาบก่อนแล้วกรองรส กลิ่น สี จนเหลือสารละลายที่มีขนาดไม่เกิน 1 ไมครอน โดยในปัจจุบันเครื่องกรองน้ำที่มีระบบ RO โดยประชาชนมักจะซื้อไปใช้ตามบ้านนั้น สามารถจัดการความเค็มได้ โดยปัจจุบันมีราคาถูกลงด้วย

นอกจากนี้ "ตู้กดน้ำ" ตามหอพัก อพาร์ทเม้นต์ส่วนใหญ่ก็จะมีระบบ RO แต่ต้องดูว่าผู้ประกอบกิจการใช้ระบบนี้จริงหรือไม่ ส่วนในสถานพยาบาลน้ำที่ใช้ก็จะผ่านระบบ RO เช่นกัน ซึ่งการกรองน้ำระบบนี้สามารถแก้ไขเรื่องความเค็มของน้ำประปาได้

"ระบบน้ำประปากร่อย เกลือโซเดียมไม่ได้มีผลเท่ากันทุกวัน หากติดตามข้อมูลสถานการณ์ช่วงไหนน้ำทะเลหนุนสูงก็งด ลด เลี่ยงใช้ไปใช้วันอื่นแทน หากประชาชนไม่มีเครื่องกรองระบบ RO และภาวะน้ำประปากร่อยไม่ได้มีบ่อย สามารถไปใช้น้ำดื่มแบบแกลลอน หรือขวดที่ผ่านการกรองด้วยระบบ RO และบางยี่ห้อมีการฉายแสงด้วย และราคาไม่สูง สามารถไปใช้แทนได้"

อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมอนามัย ทิ้งท้ายด้วยว่า ประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับการอุปโภคบริโภคน้ำประปาเค็ม เพราะเป็นเฉพาะบางช่วงเวลาเท่านั้น สำหรับคนปกติทั่วไปสามารถดื่มได้ ส่วนกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบางต้องระมัดระวังลด เลี่ยง โดยให้กรองน้ำหรือดื่มน้ำจากขวดแทน

เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง