สมาร์ตไลฟ์ยุคดิจิทัล ใช้เทคโนโลยีแบบไม่ฉลาด เสี่ยงผลกระทบสุขภาพพัง
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จำแนกผลกระทบการใช้งานเทคโนโลยี หรือ อุปกรณ์ดิจิทัล ไว้ดังนี้
1. ผลกระทบสุขภาพกาย : การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน หรือ แท็บเล็ตเป็นเวลานาน นอกจากแสงสีฟ้าจากหน้าจออุปกรณ์เหล่านี้ส่งผลต่อสายตาแล้ว ยังอาจทำให้เกิดอาการปวดคอ ปวดหลัง และปวดไหล่ได้
2. ผลกระทบพฤติกรรมการใช้ชีวิต : การนั่งหรือนอนเล่นสามาร์ตโฟน หรือ แท็บเล็ตเป็นเวลานาน ก่อให้เกิดพฤติกรรมเนื่อยนิ่ง ใช้ชีวิตแบบที่นั่งเฉย ๆ หรือนอนเฉย ๆ ส่งผลเสียต่อสุขภาพเสี่ยงให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคอ้วน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
3. ผลกระทบสุขภาพจิต : การเสพติดเทคโนโลยี โดยมีลักษณะการใช้งานสมาร์ตโฟน และ อินเทอร์เน็ตมากเกินไป ยังเสี่ยงเกิดความเครียด และ ภาวะซึมเศร้า
โดยมีคำแนะนำวิธีการลดผลกระทบเชิงลบจากการใช้เทคโลยีดิจิทัลดังนี้
1. พักสายตาเป็นระยะ : โดยทุกๆ 20 นาที ควรพักสายตาโดยการมองไปยังวัตถุที่อยู่ไกลออกไป
2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ : พยายามออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน
3. สร้างบรรยากาศในการนอนที่เหมาะสม : ปิดไฟ ปิดเสียงโทรศัพท์ และหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์ก่อนนอน
แต่ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันอย่างแยกไม่ออก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีเทคนิคการสร้างสมดุลการใช้เทคโนโลยีดังนี้
1. จัดการเวลา : วางแผนการทำงาน แบ่งเวลาให้เหมาะสม กำหนดเวลาพักสายตา พักสมอง ลุกขึ้นยืดเส้นยืดสาย
2. ดูแลสุขภาพกาย : ทานอาหารครบ 5 หมู่ เน้นผักผลไม้ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
3. ดูแลสุขภาพจิต : ฝึกสมาธิ ฝึกหายใจ หากิจกรรมผ่อนคลาย เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ พูดคุยกับคนรอบข้าง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหากรู้สึกเครียดหรือวิตกกังวล
4. ใช้เทคโนโลยีอย่างฉลาด : ตั้งค่าการแจ้งเตือนให้เหมาะสม จำกัดเวลาการใช้งานโซเชียลมีเดีย เลือกติดตามข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์
5. สร้างสมดุลในชีวิต : หาเวลาทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ ใช้เวลากับครอบครัวและเพื่อน ออกไปท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจ
เทคนิคเหล่านี้จะช่วยให้สามารถบริหารจัดการสุขภาพกายและใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีให้ได้ประโยชน์สูงสุด
ข้อมูล : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข , สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ภาพ : ทีมกราฟิก TNN