เปิดสถิติเด็กไทยเป็น “โรคอ้วน” อันดับ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน
แพทย์หญิง อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เด็กถือเป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศชาติ กรมอนามัยยังคงให้ความสำคัญกับเด็ก โดยเฉพาะเด็กปฐมวัย เพราะเป็นวัยที่สำคัญที่สุด สามารถจะพัฒนาสมองและการเรียนรู้ จำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแล ส่งเสริมพัฒนาการให้สมวัย และเฝ้าระวังทางด้านสุขภาพ โดยเฉพาะโรค NCDs ที่ถือว่าเป็นภัยคุกคามสุขภาพประชาชนไทย ซึ่งในเด็กจะเริ่มที่โรคอ้วน และนำไปสู่โรค NCDs
ปัจจุบันพบว่า ประเทศไทยมีเด็กที่เป็นโรคอ้วนสูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศในกลุ่มอาเซียน รองจากประเทศมาเลเซีย และบรูไน จากการคาดการณ์ของสหพันธ์โรคอ้วนโลก ในปี 2573 จะมีเด็กอ้วนทั่วโลกมากถึง 1 ใน 3 โดยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี จะมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนสูงถึงร้อยละ 30 ซึ่งจากรายงานการเฝ้าระวังโรคอ้วนในเด็กของประเทศไทย พบแนวโน้มเด็กเป็นโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยพบว่าเด็กอายุ 0 - 5 ปี อ้วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.6 เป็นร้อยละ 8.84 และเด็กวัยเรียนอายุ 6 -14 ปี อ้วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.9 เป็นร้อยละ 13.21 วัยรุ่นอายุ 15 -18 ปี มีเริ่มอ้วน และอ้วนลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 13.84 เป็นร้อยละ 13.46 แต่ยังคงเกินเป้าหมายระดับชาติที่กำหนดไว้ คือ ไม่เกินร้อยละ 11.5
ทั้งนี้ ในปี 2567 เด็กวัยเรียนในช่วงอายุ 6 -14 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน 546,434 คน เด็กวัยรุ่นในช่วงอายุ 15-18 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน 230,027 คน จากการคาดการณ์เด็กที่เป็นโรคอ้วน 1 ใน 3 จะเป็นผู้ใหญ่อ้วน หากไม่เร่งดำเนินการแก้ไข จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยในอนาคต กรมอนามัย จึงเร่งวางมาตรการในการขับเคลื่อนการจัดการปัญหาโรคอ้วนในเด็กวัยเรียนและวัยรุ่น เพื่อให้เด็กไทยมีร่างกายจิตใจที่แข็งแรง เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สุขภาพดี เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศไทย
ภาพจาก: AFP