รีเซต

รู้จัก "โรคตับ" สาเหตุการเสียชีวิตของ เจ ไพลิน

รู้จัก "โรคตับ" สาเหตุการเสียชีวิตของ เจ ไพลิน
TrueID
29 กรกฎาคม 2564 ( 13:25 )
828

จากข่าว เจ ไพลิน อดีตนางเอกภาพยนตร์มือปืนโลกพระจัน นางแบบและนักแสดงชื่อดังยุค 90's ซึ่งเสียชีวิตอย่างสงบด้วยโรคตับ หลังเข้ารักษาตัวได้เกือบ 2 เดือน ที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า วันนี้ trueID จะพาไปรู้จักกับ "โรคตับ" สาเหตุการเสียชีวิตของดาราดังกล่าว

 

 

โรคตับ (Liver disease)

เป็นโรคที่เกิดจากการที่ตับได้รับบาดเจ็บ หรือเกิดแผลเป็นแบบถาวร จนทำให้เป็นพังผืดขึ้นในเนื้อตับ ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของตับช้าลง

 

เริ่มตั้งแต่การผลิตโปรตีน การจัดการกับสารพิษในร่างกาย การไหลเวียนของเลือดที่ไหลผ่านตับไม่สะดวก หรือบางกรณีอาจปิดกั้นไปเลยก็มี ขึ้นอยู่กับอาการว่าเป็นหนักหนาแค่ไหน ทำให้ระบบการทำงานของร่างกายแปรปรวน และอาจนำพาให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาได้เช่นกัน

 

 

หน้าที่สำคัญของตับ

- ทั้งในการสะสมน้ำตาล

- สร้างน้ำย่อยอาหาร

- สร้างฮอร์โมนช่วยสร้างเกล็ดเลือดของไขกระดูก

- สร้างสารช่วยการแข็งตัวของเลือด

- สันดาป/สังเคราะห์โปรตีน และไขมัน

- และที่สำคัญ คือ ทำลายและกำจัดของเสียต่างๆออกจากร่างกายผ่านทางน้ำดี

 

 

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับ?

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับ ได้แก่

 

- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

- เป็นโรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง

- ทำงานที่เกี่ยวข้องกับสารพิษ และสารเคมีต่างๆโดยไม่รู้จักการป้องกัน

- ทำงานที่ต้องสัมผัสกับ เลือด สารคัดหลั่ง หรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น (เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี)

- การกินอาหารที่ขาดสุขอนามัย (เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ไวรัสตับอักเสบ เอ)

- กินยาพร่ำเพรื่อ เสี่ยงต่อผลข้างเคียงของยา

- ชอบกินสมุนไพร หรือเห็ดแปลกๆ

- การเปลี่ยนคู่หลับนอน (เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ไวรัสตับอักเสบ บี)

- การสักตามร่างกาย หรือ เจาะร่างกายจากแหล่งบริการที่ไม่สะอาดพอ เพราะอาจเป็นสาเหตุการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี

- ได้รับเลือดจากผู้ป่วยที่เป็นโรคตับอักเสบ บี หรือ ไวรัสตับอักเสบ ซี

 

 

อาการแบบไหน? ที่บอกว่า เราอาจเป็นโรคตับ

 

  • มีอาการอ่อนเพลีย นอนไม่ค่อยหลับ แต่มักจะรู้สึกง่วงในเวลากลางวัน รู้สึกเหนื่อยง่ายคล้ายคนไม่มีเรี่ยวแรง บางคนอาจจะมีอาการคลื่นไส้ เบื่ออาหารร่วมด้วย และมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เหมือนเวลาทานอาหารแล้วไม่ย่อย รวมทั้งเรอบ่อยขึ้น
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ อาจขาดไปเลย หรือมาแบบไม่สม่ำเสมอ ทั้งที่ปกติไม่เคยเป็น ส่วนผู้ชายบางคนอาจมีอาการเต้านมขยาย มีอาการเจ็บที่เต้านม และบางคนอาจจะทำให้อัณฑะฝ่อตัว หรือสมรรถภาพทางเพศลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • อยู่ๆ มีอาการคันตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพราะมีน้ำดีไปสะสมอยู่บริเวณผิวหนังส่วนนั้น เลยทำให้เกิดอาการคันตามตัวขึ้นมา
  • ตัวเหลือง ตาเหลือง คล้ายกับคนเป็นดีซ่าน เพราะตับไม่สามารถทำหน้าที่ขับน้ำดีออกจากตับได้ จนทำให้มีการแพร่กระจายไปที่ตา และร่างกายจนตัวเหลือง
  • มีอาการบวมเกิดขึ้นที่หลังเท้า แขนขา และหน้าท้อง เนื่องจากตับไม่สามารถสร้างโปรตีนในเลือดได้นั่นเอง
  • เมื่อมีบาดแผลเกิดขึ้น จะทำให้เลือดออกง่ายกว่าปกติ และไม่ยอมหยุดไหลง่ายๆ เพราะตับไม่สามารถสร้างสารที่ทำให้เลือดแข็งตัวได้
  • บางรายที่เริ่มมีอาการรุนแรงขึ้น อาจมีอาการอาเจียนเป็นเลือดเพราะความดันในตับสูง จนทำให้หลอดเลือดดำในหลอดอาหารมีความดันสูง ซึ่งหากความดันสูงมากก็จะทำให้หลอดเลือดดำแตกได้
  • ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง ทำให้เจ็บป่วย หรือติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
  • มีอาการปวดแน่นที่ชายโครง รู้สึกร้อนวูบที่ช่องอก รวมไปถึงมีอาการตึงที่กล้ามเนื้อช่องท้อง จนเป็นที่มาของอาการปวดท้องน้อย
  • ถ้าลองสังเกตบริเวณมุมปาก และริมฝีปาก จะเห็นว่ามีสีคล้ำผิดปกติ รวมไปถึงลิ้นก็จะออกสีม่วงคล้ำ และขอบลิ้นจะมีรอยกดทับของฟันด้วย

 

รักษาโรคตับอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคตับ คือ การรักษาสาเหตุ ร่วมกับการรักษาประคับประคองตามอาการ

 

- การรักษาสาเหตุ เช่น การให้ยาปฏิชีวนะเมื่อโรคตับเกิดจากติดเชื้อแบคทีเรีย การผ่าตัดเมื่อมีเนื้องอกในตับ การเลิกสุรา หรือการหยุดยา เมื่อโรคตับเกิดจากสุรา หรือ จากยา เป็นต้น นอกจากนั้นเมื่อตับสูญเสียการทำงานจนเกิด ภาวะตับวายเรื้อรัง การรักษาคือ การผ่าตัดเปลี่ยนตับ (Liver transplantation)

 

- การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น การให้ยาแก้ปวด หรือ ยาบรรเทาอาการคลื่น ไส้ อาเจียน ตามอาการ การทำผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำดีเมื่อมีตัว ตาเหลืองมากจากมีการอุดตันของทางเดินน้ำดีในตับ และการให้สารน้ำและอาหารทางหลอดเลือดดำเมื่อกิน ดื่ม ได้น้อย เป็นต้น

 

ป้องกันโรคตับได้อย่างไร?

การป้องกันโรคตับสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะดังกล่าวแล้วในหัวข้อสาเหตุ /ปัจจัยเสี่ยงว่า สาเหตุสำคัญของโรคตับ คือ จากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ดังนั้นการป้องกันที่ประสิทธิภาพที่สุด คือ

 

- การไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือถ้าดื่มก็ต้องจำกัด เป็นครั้งคราวในปริมาณไม่มาก สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (ACS,American Cancer Society) แนะนำ จำกัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด โดยในแต่ละวัน ผู้ชายไม่ควรดื่มเบียร์เกิน 350 มิลลิลิตร (มล.) ไวน์ไม่เกิน 150 มล. และสุรา ไม่เกิน 50 มล. ในผู้หญิงลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของผู้ชาย เพราะมีรูปร่างและน้ำหนักตัวน้อยกว่าผู้ชาย รวมทั้งสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (AHA,American Heart Association) ก็แนะนำการจำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เช่นกัน

 

- การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อ ซึ่งรวมถึงการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบทุกชนิดด้วยนอกจากนั้น ยังอาจป้องกันโรคตับได้จากการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น การไม่ใช้ยาพร่ำเพรื่อ การไม่กินเห็ดหรือสมุนไพรต่างๆที่ไม่รู้จัก การไม่ใช้สารเสพติด การป้องกัน ควบคุมและรักษาโรคต่างๆที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำ คัญ ได้แก่ โรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคไขมันในเลือดสูง

 

ข้อมูล : รพ.เปาโล , รพ.เกษมราษฎร์

ภาพโดย j m จาก Pixabay 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง