ยุงกัดแต่ละครั้ง เสี่ยงโรคอะไรบ้าง
ในช่วงมีอากาศชื้นจากฝนตกต่อเนื่องและอาจมีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ซึ่งยุงแต่ละชนิดเป็นพาหะนำโรคที่แตกต่างกัน ยุงชนิดไหนเสี่ยงป่วยเป็นโรคอะไรและจะมีวิธีป้องกันอย่างไร วันนี้มีข้อมูลมาแนะนำ
โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนอันตรายจากยุงที่เป็นพาหะนำโรคร้ายได้หลายชนิดที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ยุงแต่ละชนิดก็มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโรคที่แตกต่างกัน
ยุงลาย เป็นพาหะนำเชื้อและเสี่ยงเป็นได้ ถึง 3 โรค ได้แก่ ไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และ ชิคุนกุนยา
ยุงลายจะมีลำตัวและขา มีลายสีขาวสลับดำ พบได้ทั่วไปในพื้นที่ชุมชนและเขตเมือง เช่น บ้านเรือน โรงเรียน โรงพยาบาล หรือแหล่งเพาะพันธุ์ที่เป็นภาชนะมีน้ำขัง เช่น จานรองกระถางต้นไม้ ภาชนะที่มีน้ำขัง ยางรถเก่า
ยุงรำคาญ เสี่ยงเป็นโรคไข้สมองอักเสบ
ยุงรำคาญ ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อน พบได้บริเวณทุ่งนา บ่อน้ำขัง ท่อระบายน้ำ บริเวณรอยเท้าสัตว์ที่มีน้ำขัง โดยโรคไข้สมองอักเสบอาจเกิดจากเชื้อไวรัสได้หลายชนิด ส่วนมากพบโรคนี้ในเด็กอายุ 5 – 10 ปี และพบการแพร่ระบาดในภาคเหนือช่วงฤดูฝนมากว่าภาคอื่น ๆ
ยุงเสือ หรือ ยุงลายเสือ เสี่ยงเป็นโรคเท้าช้าง
ลักษณะ ลำตัวมีสีน้ำตาล ปีกมีสีขาวสลับน้ำตาลขนาดใหญ่ บินได้ดีและดูดเลือดเร็ว มีขาและปีกที่ใหญ่และแข็งแรง
พบได้ในพื้นที่ชื้น เช่น บริเวณหนองน้ำ ทะเลสาบ พื้นที่มีพืชน้ำหรือหญ้าแฝก รวมถึงบริเวณรอบๆ หมู่บ้านที่มีน้ำขัง หรือแหล่งน้ำที่มีพืชน้ำหนาแน่น
โดยโรคเท้าช้าง จะมีอาการที่เห็นได้ชัด คือ ขา แขน หรืออวัยวะเพศจะบวมโตผิดปกติ เนื่องจากภาวะอุดตันของท่อน้ำเหลือง
ยุงก้นปล่อง เสี่ยงเป็นโรคมาลาเรีย หรือ โรคไข้ป่า
ลักษณะลำตัวมีขนาดเล็ก สีดำ เกาะทำมุม 45 อาศากับพื้นผิว พบได้บริเวณ ป่าเชิงเขา หรือบริเวณลำธารน้ำใส ไหลรินเอื่อยๆ ออกหากินช่วงเวลากลางคืน โดยอาการของโรคมาลาเรียจะมีไข้สูง หนาวสั่น มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจทำให้เสียชีวิตได้จากเชื้อมาลาเรียขึ้นสมอง ระบบการแข็งตัวของเลือด บกพร่อง ไตวาย ตับและมามโต
สำหรับวิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือการป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด ซึ่งจะลดความเสี่ยงป่วยเป็นโรคที่มาจากยุงตัวร้าย ได้แก่
-ทายากันยุงเป็นประจำ
-กางมุ้งและอยู่ในห้องหรือบ้านที่มีมุ้งลวด
-ใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาวสีสว่าง
-เก็บบ้านให้สะอาด ปลอดโปร่งปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในบ้านและรอบบ้านให้มีความเป็นระเบียบ
-เก็บขยะ ปิดภาชนะถังขยะให้มิดชิด ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
-เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำให้มิดชิด จัดการภาชนะไม่ให้มีน้ำขังป้องกันยุงมาวางไข่และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
ข้อมูล : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
กราฟิก : TNN