ป่าไม้ทั่วโลกวิกฤต! ปรับตัวช้า ไม่ทันโลกร้อน

งานวิจัยล่าสุดที่ร่วมเขียนโดย ศาสตราจารย์เอริน ซอป (Erin Saupe) และทีมวิจัย เผยว่าป่าไม้ทั่วโลกกำลังตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในยุคปัจจุบัน เพราะการปรับตัวของต้นไม้ต้องใช้เวลานานนับศตวรรษ ซึ่งช้ากว่าความรุนแรงและความเร็วของภาวะโลกร้อนในปัจจุบันอย่างมาก
ในอดีต ต้นไม้ในซีกโลกเหนือสามารถปรับตัวต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงช้า ๆ เป็นพัน ๆ ปี โดยการเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่ตามความเหมาะสม เช่น ในช่วงยุคน้ำแข็ง ต้นไม้จะย้ายถิ่นไปทางใต้เพื่อหาสภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้น และเมื่อโลกอบอุ่นขึ้นก็จะเคลื่อนย้ายกลับไปทางเหนือ แต่เนื่องจากต้นไม้มีอายุยืนยาวและเคลื่อนที่ได้ช้า ทำให้ไม่สามารถตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในยุคนี้ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้
งานวิจัยชิ้นนี้ใช้ข้อมูลจากแกนตะกอนในทะเลสาบ ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลละอองเกสรดอกไม้ย้อนหลังถึง 600,000 ปี เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงประชากรต้นไม้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในช่วงเวลาต่าง ๆ ผลการศึกษาพบว่าป่าไม้ต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 ศตวรรษในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นั่นคือช่วงเวลาที่ต้นไม้รุ่นเก่าตายและต้นไม้รุ่นใหม่เข้ามาแทนที่ ซึ่งสอดคล้องกับอายุเฉลี่ยของต้นไม้แต่ละต้น
ทีมวิจัยได้นำเทคนิคการวิเคราะห์สเปกตรัมมาใช้ เพื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของประชากรต้นไม้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในช่วงเวลาตั้งแต่ปีจนถึงหลายพันปี ผลการวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศป่าไม้กับสภาพอากาศนั้นซับซ้อนและขึ้นกับช่วงเวลาที่วิเคราะห์ นอกจากนี้ พบว่าป่าไม้เปลี่ยนแปลงช้าในช่วงเวลาหลายปีหรือทศวรรษ แต่เมื่อมองในช่วงเวลาระยะยาวประมาณ 8 ศตวรรษ การเปลี่ยนแปลงจะมากขึ้นและสัมพันธ์กับความแปรปรวนตามธรรมชาติของสภาพภูมิอากาศมากขึ้น
งานวิจัยชิ้นนี้จึงเปิดโอกาสให้เราเข้าใจกระบวนการปรับตัวของป่าไม้ในทุกช่วงเวลาว่ามีความเชื่อมโยงกันอย่างไร ตั้งแต่ระดับการแพร่กระจายพันธุ์ไม้จนถึงการเปลี่ยนแปลงประชากรในระยะยาว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำได้มาก่อน อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ป่าไม้ใช้เวลานานมากในการปรับตัว ทีมวิจัยแนะนำว่ามนุษย์ควรเข้ามาช่วยเหลือผ่านวิธีการ “ย้ายถิ่นโดยมนุษย์” (assisted migration) คือการปลูกต้นไม้ที่ทนความร้อนได้ดีในพื้นที่ที่เคยหนาว เพื่อช่วยให้ป่าสามารถปรับตัวและเจริญเติบโตได้แม้ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
เดวิด ฟาสโตวิช นักวิจัยกล่าวว่า มีความย้อนแย้งกันระหว่างความเร็วในการเปลี่ยนแปลงของป่าที่เป็นธรรมชาติ กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน การย้ายถิ่นโดยมนุษย์เป็นเครื่องมือหนึ่งในหลายวิธีที่จะช่วยรักษาป่าที่เรารักให้คงอยู่ไปนาน ๆ
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
