รีเซต

ไขปม “พี่กบไม่ให้ลา” พ่อ-แม่เสียนายจ้างไม่อนุมัติ ใช้สิทธิหยุดได้ทันที

ไขปม “พี่กบไม่ให้ลา” พ่อ-แม่เสียนายจ้างไม่อนุมัติ ใช้สิทธิหยุดได้ทันที
TNN ช่อง16
17 สิงหาคม 2566 ( 19:37 )
197
ไขปม “พี่กบไม่ให้ลา” พ่อ-แม่เสียนายจ้างไม่อนุมัติ ใช้สิทธิหยุดได้ทันที

เป็นกระแสไวรัลที่ยังร้อนแรงอยู่โลกโซเชียลขณะนี้ หลังจากลูกจ้างสาวรายหนึ่ง ได้โพสต์แชทข้อความสนทนาระหว่างหัวหน้างาน และ ตนเองที่ขอลาไปเฝ้าแม่ที่ป่วยอย่างหนักและได้เสียชีวิตลง แต่หัวหน้าไม่อนุมัติแถมยังให้มาเขียนใบลาออก ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนัก พร้อมกับตั้งคำถามว่าในกรณีแบบนี้ผิดกฏหมายแรงงานหรือไม่ ? และ ถ้าหากเกิดเหตุลักษณะนี้อีกลูกจ้างต้องรอให้อนุมัติถึงจะลาได้ เพื่อที่จะได้ไม่มีผลต่อการจ้างงานด้วยไหม 


ในเรื่องนี้ ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์  ทนายความชื่อดังได้ให้ความรู้ผ่าน “เพจทนายคลายทุกข์” ระบุไว้ว่า เนื่องจากพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 41 มาตรา 34 เขียนไว้ชัดลูกจ้างมีสิทธิลากิจไม่น้อยกว่าปีละ 3 วันทำงาน โดยได้รับค่าจ้าง และ การที่หัวหน้างานไม่อนุมัติให้ลาผิดกฏหมายแรงงานอย่างแน่นอน 


ในกรณีที่มีความจำเป็น ถ้ากรณีแม่เสียชีวิตสามารถลาได้ทันที โดยไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอน  นอกจากนี้ทนายคลายทุกข์ ยังโพสต์ข้อความบนเพจระบุด้วยว่า “ลูกจ้างลางานไปดูใจแม่ก่อนตายหัวหน้างานไม่อนุมัติ ผิดกฎหมายแรงงาน และไม่มีความเป็นคนละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”


ภาพจาก เพจทนายคลายทุกข์ 

ขณะเดียวกัน นายณรงค์ฤทธิ์ วรรณโส ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ออกมากล่าวถึงเรื่องนี้เช่นกันโดยตอบคำถามของสังคม ในประเด็นที่  “บิดา-มารดาเสียชีวิต” ต้องรอให้นายจ้างอนุมัติก่อนถึงจะสามารถหยุดงานได้หรือไม่  


กรณีนี้ นายณรงค์ฤทธิ์  ระบุชัดเจนว่า  ลูกจ้างขอลาไปจัดงานศพมารดา แต่ ผู้จัดการ /นายจ้าง ไม่อนุมัติ แต่ก็ยังหยุดงานไป การใช้สิทธิลาเช่นนี้ถือว่าเป็นใช้สิทธิลาอันเนื่องมาจากมีกิจธุระอันจำเป็นตามระเบียบ ข้อบังคับ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานซึ่งรับรองคุ้มครองสิทธิไว้อย่างชัดเจน


การใช้สิทธิลาเช่นนี้ถือว่าเป็นใช้สิทธิลาอันเนื่องมาจากมีกิจธุระอันจำเป็นตามระเบียบ ข้อบังคับ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานซึ่งรับรองคุ้มครองสิทธิไว้อย่างชัดเจน


ทั้งนี้ถือว่าลูกจ้างใช้สิทธิโดยชอบด้วย ไม่ถือว่าลูกจ้างฝ่าฝืนคำสั่ง ระเบียบข้อบังคับของนายจ้าง จึงไม่เป็นการละทิ้งหน้าที่ ขาดงาน จงใจขัดคำสั่งของนายจ้าง อันจะนำมาเป็นเหตุลงโทษทางวินัยได้  “ ถ้าลงโทษวินัยไป (เช่น ออกหนังสือเตือน) ก็ไม่ชอบ เช่นกัน ถ้าเลิกจ้างก็ไม่เป็นเหตุที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้าง(หากอายุงาน 120  วันขึ้นไป)” 


ภาพจากเพจ Narongrit Wannaso


ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับ   นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ออกมาเทคแอคชั่นในทันทีหลังจากไวรัล “พี่กบไม่ให้ลา” ถูกแชร์ต่อกันในโลกโซเชียล ล่าสุดตนเองได้ สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ พร้อมให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย


ที่สำคัญนายสุชาติยังกล่าวย้ำถึงกฏหมายแรงงานที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดโดยระบุว่า พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 34 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ปีละไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน และให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลากิจเพื่อกิจธุระอันจำเป็น เท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกิน 3 วันทำงาน 



เนื่องจากการลากิจธุระอันจำเป็น เป็นสิทธิพื้นฐานที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดสิทธิให้ลูกจ้างทุกประเภทมีสิทธิลากิจได้ แม้จะเป็นลูกจ้างทดลองงาน ลูกจ้างรายวัน และลูกจ้างประเภทอื่น ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรฐานขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเท่าเทียมกัน


ขณะที่นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในท้องที่ที่เกิดเหตุ เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย 


คนไทยไม่ได้ขี้เกียจ “ทำงานหนัก” ติดอันดับ 5 ของโลกในปี 2565


มีข้อมูลที่น่าสนใจจาก Kisi บริษัทเทคโนโลยีให้คำปรึกษาด้านการทำงาน ได้ทำการสำรวจในหัวข้อเมืองที่มีประชากรที่มีชั่วโมงการ ทำงานยาวนาน และ ขาดชีวิตไลฟ์บาลานซ์ มากที่สุดในโลก ผลปรากฏว่า กรุงเทพมหานครของเรานั้นติดอันดับ 5 เลยทีเดียว  โดยรายชื่อเมืองที่ชีวิตการทำงานหนักหน่วง 10 อันดับในปี 2022 มีดังต่อไปนี้ 


1.แคปทาวน์ เซาท์อแฟริกา


2.ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์


3.กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย


4.เซาท์เปาโล บราซิล


5.กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย


6.บัวโนสไอเรส อาเจนติน่า 


7.มอนเตวิเดโอ อุรุกวัย


8.ฮ่องกง


9.เมมฟิส สหรัฐอเมริกา


10.เซนต์หลุยส์ สหรัฐอเมริกา


ดูสถิติด้านการทำงานจาก Kisiคลิกที่นี่


คนไทยถูกเอาเปรียบจากนายจ้างมากน้อยแค่ไหน? เรื่องอะไรนำมาเป็นอันดับ 1 ?


จากรายงานความเคลื่อนไหวด้านแรงงานของกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานในไตรมาส 1ของปี 2566 ได้รับคำร้องจากลูกจ้างรวมทั้งสิ้น 4,225 ราย เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน 371 รายโดยพบว่า เรื่องที่ลูกจ้างร้องทุกข์มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่


1.ค่าจ้าง จำนวน 2,733 ราย คิดเป็นร้อยละ 64.7 


2.ค่าชดเชยการเลิกจ้าง จำนวน 1,171 ราย คิดเป็นร้อยละ 27.7 


3.ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำนวน 1,082 ราย คิดเป็นร้อยละ 25.6


นอกจากนี้ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) ได้รับคำร้องจากลูกจ้างอันเกิดจาก การกระทำอันไม่เป็นธรรมของนายจ้างรวมทั้งสิ้น 98 คน เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน พบว่า มีการรับคำร้องเพิ่มขึ้น 64 คน คิดเป็นร้อยละ 188.2 เลยทีเดียว  


รายงานความเคลื่อนไหวด้านแรงงานของกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานฉบับเต็ม คลิก


ลูกจ้างไทยมีสิทธิใช้ “วันลา” ได้แค่ไหน? ในกรณีของการลากิจธุระจำเป็น 


ลูกจ้างลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน จากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ระบุเอาไว้ว่าผู้จ้างจะต้องอนุญาตให้ลูกจ้างลากิจได้อย่างน้อยปีละ 3 วัน โดยจะไม่มีการหักค่าจ้างใด ๆ ทั้งสิ้น โดย เรายังสามารถได้รับสิทธิการลาในกรณีต่างๆได้อีก อาทิ ลาป่วย ลาคลอด แม้กระทั่งการลาไปทำหมันสามารถเช็กรายละเอียดได้ คลิกที่นี่


ลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรมร้องเรียนได้ที่ไหน?


ลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการทำงาน สามารถปรึกษา ร้องทุกข์ ร้องเรียน ได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานคร 10 พื้นที่ หรือโทรสายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546


ข้อมูลจาก : กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานทนายคลายทุกข์กระทรวงแรงงาน , Kisi

ภาพจาก :   AFP / TNN ONLINE 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง