รีเซต

เปิดแผนรับมือ “น้ำท่วมกรุงเทพฯ 2564” เช็ก! สถานการณ์น้ำ “แม่น้ำเจ้าพระยา” วันนี้

เปิดแผนรับมือ “น้ำท่วมกรุงเทพฯ 2564” เช็ก! สถานการณ์น้ำ “แม่น้ำเจ้าพระยา” วันนี้
Ingonn
29 กันยายน 2564 ( 11:28 )
425

สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ต่างจังหวัด ยังคงเดือดร้อนหนัก ไม่ว่าจะเป็นลพบุรี ชัยภูมิ โคราช และจังหวัดอื่นๆ ที่ได้ได้รับอิทธิพลจากพายุ “เตี้ยนหมู่” ทำให้น้ำท่วมขังนานหลายวัน ชาวบ้านหลายหลังคาเรือนได้รับความเดือดร้อน ส่วนในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร ทาง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เตรียมความพร้อมรับมือแก้ไขน้ำท่วมใน กทม. เพื่อป้องกันสภาพอากาศจากฝนที่ตกหนัก ที่จะทำให้ปริมาณน้ำเหนือ และน้ำหนุนไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นจำนวนมาก และอาจเกิดน้ำท่วมได้ เพราะ กทม.เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ

 

 

เมื่อพื้นที่ กทม. มีลักษณะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านกลางเมืองที่มาจากตอนบนประเทศ ถ้ามีฝนตกหนักบริเวณจังหวัดที่อยู่ตอนบนของ กทม. จะทำให้มีน้ำเหนือปริมาณมากไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา

 

 

ในทุก ๆ ปี กทม.จะมีปัจจัยจากน้ำฝนที่ตกหนัก ปริมาณมากที่จะทำให้เกิดน้ำท่วมขังได้ กทม.จึงได้เตรียมรับมือป้องกันน้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่อง และเตรียมเจ้าหน้าที่ เครื่องสูบน้ำในจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมขัง ก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ ท่อเร่งระบายน้ำ และพื้นที่กักเก็บน้ำ ทั้งบนดินและใต้ดิน เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังใน กทม. 

 

 

นอกจาก กทม. จะมีการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ที่มีปัจจัยจากน้ำฝน น้ำเหนือและน้ำหนุน โดยใช้หลักวิศวกรรมเร่งการระบายน้ำออกให้เร็วที่สุด โดยสร้างท่อเร่งระบายน้ำ (Pipe Jacking) เร่งระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่จุดเสี่ยงและเฝ้าระวังน้ำท่วม ให้ไหลลงสู่พื้นที่กักเก็บน้ำใต้ดินหรือธนาคารน้ำใต้ดิน (Water Bank) ได้เร็วขึ้น ก่อนที่จะไหลลงอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ เพื่อระบายน้ำออกสู่คลองและแม่น้ำเจ้าพระยา  และยังมีพื้นที่กักเก็บน้ำบนดิน (แก้มลิง) รองรับน้ำไม่ให้ท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฝั่งตะวันออก ก่อนสูบน้ำ ระบายออกสู่แม่น้ำให้เร็วที่สุดอีกทางหนึ่ง

 

ภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก ผู้ว่าฯ อัศวิน

 

 

9 แผนรับมือ “น้ำท่วมกรุงเทพ 2564”


กทม.ก็ยังได้เตรียมความพร้อมและรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ โดยมีแผนรับมือฯ 9 ข้อ ดังนี้

 


1. ติดตามสถานการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาและจากเรดาร์ตรวจฝนของกรุงเทพมหานคร ตลอด 24 ชั่วโมง 

 


2. เตรียมเครื่องสูบน้ำให้พร้อมใช้งาน และจัดเจ้าหน้าที่ พร้อมแก้ไขน้ำท่วมขังทันที ตามจุดที่เสี่ยงน้ำท่วม

 


3. พร่องน้ำในคลอง ควบคุมระดับน้ำในบ่อสูบน้ำและแก้มลิงให้อยู่ในระดับต่ำตามแผนฯ 

 


4. เมื่อมีฝนตก ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม แจ้งเตือนสถานการณ์ฝนตกให้ผู้ปฏิบัติงานภาคสนาม และแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านกลุ่ม Line “เตือนภัยน้ำท่วม กทม.” (ปภ. ทหาร ตำรวจ สื่อมวลชน) ทันที

 


5. หน่วยปฏิบัติการเร่งด่วน (BEST) ประจำจุดเสี่ยงน้ำท่วมและจุดสำคัญเมื่อคาดว่าจะมีฝนตกหนัก เพื่อเร่งระบายน้ำ และแก้ไขปัญหาเรื่องขยะอุดตันตะแกรงช่องรับน้ำพร้อมการช่วยเหลือแก้ปัญหาด้านการการจราจร 

 


6. หน่วยงานภาคสนามลงพื้นที่ตามจุดต่างๆ และรายงานจุดที่มีน้ำท่วมให้ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมรับทราบสถานการณ์จนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ 

 


7. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ ช่วยอำนวยความสะดวกการจราจร การปิดเส้นทางน้ำท่วม และทหาร ช่วยเหลือลำเลียงประชาชนออกจากพื้นที่ หากมีระดับน้ำท่วมสูงรถเล็กไม่สามารถใช้เส้นทางผ่านได้ 

 


8. เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในจุดที่วิกฤติ ด้วยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำชนิดเคลื่อนที่เพิ่มเติมจากเดิม 

 


9. ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม รายงานสภาพฝน ปริมาณฝน พื้นที่น้ำท่วมขังเป็นระยะๆ และสรุปสถานการณ์เพื่อแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ผ่านหน่วยงานต่างๆ รวมถึงช่องทางโซเชียลมีเดีย 

 

 

ทั้งนี้ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน กรุงเทพมหานครจัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโดยมีผู้อำนวยการเขตเป็นผู้บัญชาเหตุการณ์ พร้อมประสานความร่วมมือกับหน่วยงานและจังหวัดใกล้เคียง ทั้งจังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดนครปฐม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน และกองทัพภาคที่ 1 และเตรียมการแก้ไขปัญหาที่อาจส่งผลกระทบตามเส้นทางที่มีแนวก่อสร้าง เช่น โครงการระบบระบายน้ำแนวถนนวิภาวดี และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ซึ่งก่อนหน้าฝน ก็ได้มีการเตรียมพร้อมหากมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง โดยได้ลอกท่อระบายน้ำ เก็บขยะ ผักตบชวา และเตรียมเครื่องสูบน้ำให้พร้อมใช้งาน

 

 


สถานการณ์น้ำ “แม่น้ำเจ้าพระยา” ในเขต กทม.


กทม.ได้เฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา จากสถานีวัดระดับน้ำหลัก 3 แห่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 ยังอยู่ในระดับที่สูง แต่ยังต่ำกว่าแนวคันกั้นน้ำ  ดังนี้ 

 


ประตูระบายน้ำปากคลองตลาด มีระดับแนวป้องกันอยู่ที่ +3.00 วัดระดับน้ำสูงสุดได้ +1.50 ม.รทก. เวลา 11:30 น. ซึ่งยังต่ำกว่าแนวป้องกัน -1.50 

 


สถานีสูบน้ำบางนา มีระดับแนวป้องกันอยู่ที่ +2.80 วัดระดับน้ำสูงสุดได้ +1.30 ม.รทก. เวลา 11:00 น. ซึ่งต่ำกว่าแนวป้องกัน -1.50

 


สถานีสูบน้ำบางเขนใหม่ มีระดับแนวป้องกันอยู่ที่ +3.50 วัดระดับน้ำสูงสุดได้ +1.56 ม.รทก. เวลา 12:00 น. ซึ่งต่ำกว่าแนวป้องกัน -1.94

 

 

ฐานน้ำขึ้นสูงสุดแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าสถานีกองบัญชาการกองทัพเรือวันนี้ (29 กันยายน 2564)
ระดับ +0.97 ม.รทก. เวลา 20.25 น.

 

 

 

รายงานค่าระดับน้ำแนวคันกั้นน้ำด้านตะวันออกวันนี้ (29 กันยายน 2564)


- ประตูระบายน้ำคลองสอง (สายใต้) (ระดับวิกฤติ +1.80) เวลา 07.00 น. ระดับ +1.31 ระดับปกติ

 


- ประตูระบายน้ำแสนแสบ (มีนบุรี) (ระดับวิกฤติ +0.90) เวลา 07.00 น. ระดับ +0.68 ระดับปกติ

 


- ประตูระบายน้ำลาดกระบัง (ระดับวิกฤติ +0.60) เวลา 07.00 น. ระดับ +0.26 ระดับปกติ

 

ภาพจาก สำนักการระบายน้ำ กทม.

 

ถึงแม้ว่าระดับน้ำยังไม่วิกฤต กทม. ก็ยังคงเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมตามแนวฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 7 จนถึงบางนา โดยควบคุมการเปิด-ปิด ประตูระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และได้จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำสำรอง เรือผลักดันน้ำ กระสอบทราย  และมีเจ้าหน้าที่ประจำจุด พร้อมแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นในทันที 

หากใครที่ต้องการอัปเดตสถานการณ์น้ำในแม่น้ำ ปริมาณฝน ทาง กทม.ได้แจ้งเตือนผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักการระบายน้ำ https://dds.bangkok.go.th/ ตลอดเวลา

ข้อมูลจาก สำนักการระบายน้ำ กทม. , เฟซบุ๊ก ผู้ว่าฯ อัศวิน

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง