รีเซต

จำนำทะเบียนรถแข่งเดือดดั๊มราคา แบรนด์ไหนดอกเบี้ยโดนใจที่สุด

จำนำทะเบียนรถแข่งเดือดดั๊มราคา แบรนด์ไหนดอกเบี้ยโดนใจที่สุด
TNN ช่อง16
9 มีนาคม 2564 ( 08:33 )
1.8K

สินเชื่อจำนำทะเบียนรถกลับมาแข่งเดือดอีกครั้ง หลังจากที่หลายค่ายเปิดสมรภูมิรบชิงเค้ก 1.5 แสนล้านบาทแบบไม่มีใครยอมใคร ทั้งบริษัทในและนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยชูดอกเบี้ยล่อตาล่อใจดึงฐานลูกค้าเก่าและเพิ่มฐานลูกค้าใหม่


จุดพลุโดยบมจ.เมืองไทย แคปปิตอล หรือ MTC นำร่องหั่นดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถทุกประเภทลง ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 18% ต่อปี จากเพดานดอกเบี้ยตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ไม่เกิน 24 % เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาด เพราะในปัจจุบันบริษัทฯ เป็นผู้นำตลาดมีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 40% ครองอันดับ 1 และปีนี้ยังหมายมั่นปั้นมือไว้ว่ายอดสินเชื่อจะเติบโต 20-30%


ขณะที่บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น หรือ SAWAD จับมือกับธนาคารออมสินตั้งบริษัท เงินสดทันใจ จำกัด หรือ "FM" ลุยตลาดนี้เช่นเดียวกัน โดยธนาคารออมสินเข้าร่วมลงทุนในจำนวนเงินไม่เกิน 1,500 ล้านบาท ซึ่งภายหลังจากการเข้าร่วมลงทุน ธนาคารจะถือหุ้นสามัญใน FM  สัดส่วนไม่เกิน 49%แลกกับเงื่อนไขการลดอัตราดอกเบี้ยให้เหลือ 18% โดยแผนธุรกิจจะต้องปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ สูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาทต่อราย คาดว่าจะกดปุ่มสตาร์ท 1 เม.ย.นี้


ฝั่งเงินติดล้อของแบงก์ลูกครึ่งกรุงศรีอยุธยา ก็เตรียมเสริมแกร่งด้านเงินทุนด้วยการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์สิ้นปีนี้ หรืออย่างช้าเป็นปี 65 โดยได้ยื่นไฟลิ่งแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจาณราของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)

   

ตามติดมาด้วยกลุ่มมาบุญครอง หรือ MBK ได้ส่งบริษัท ที ลีสซิ่ง จำกัด  ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของ บมจ.ธนชาต ประกาศลุยสินเชื่อเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์เต็มสูบ ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อปีนี้เติบโต 10% จากปี 63 อยู่ที่ 6,000 ล้านบาท พร้อมมีแผนแต่งตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อต่อยอดธุรกิจเช่นกัน


ด้าน บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย หรือ SINGER ไม่น้อยหน้า ดึง “โน้ส-อุดม แต้พานิช” นักแสดงชื่อดังเป็นพรีเซ็นเตอร์ตอกย้ำแบรนด์ให้คนระลึกถึงเสมอหากต้องการใช้บริการทางการเงินสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในตลาด จากเดิมที่เน้นขายเครื่องใช้ไฟฟ้า จักรเย็บผ้า โดยวางแผนบุกสินเชื่อจำนำทะเบียนหรือรถทำเงิน เพิ่มขึ้นในสัดส่วน 65% และสินเชื่อเช่าซื้อจากการขายสินค้า 35% จากพอร์ตสินเชื่อในปีนี้ทะลุทะลวงแตะ 10,000 ล้านบาท จากสิ้นปีก่อนที่ 6,000 ล้านบาท


ส่วนน้องใหม่ป้ายแดงที่เข้าตลาดฯ อย่าง "ศักดิ์สยาม"วิ่งสู้ฟัดประกาศแผน 3 ปีข้างหน้าหรือในปี 66 พอร์ตสินเชื่อจะขยายตัวเพิ่มเป็น 12,000 ล้านบาทจากปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อ 6,300 ล้านบาท  มีจำนวนสาขา 519 แห่ง ในพื้นที่ 38 จังหวัด  เป็น 1,119 แห่ง  คลุมทั้งภาคเหนือภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก โดยเจาะให้ถึงรากหญ้าลงไปในพื้นที่ระดับตำบล  โดยมุ่งเจาะสินเชื่อทะเบียนรถ   87% สินเชื่อส่วนบุคคล 3%สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ (Nano Finance)  9% และ 4.สินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อรถแลกเงิน (Hire-Purchase and Car for Cash)  1%

 

โดยผู้คร่ำหวอดวงการตลาดอย่าง "ศุภชัย บุญสิริ" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไฮเวย์ จำกัด ในเครือบมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) มองว่า การแข่งขันเกิดขึ้นมีมานานแล้ว ในรูปแบบบริษัทลูกของสถาบันการเงิน หรือเป็นบริษัทที่ทำตลาดในต่างจังหวัด แต่การที่หลายบริษัทฯเริ่มเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้ดูเหมือนว่า เป็นรายใหม่เข้ามาเล่นในตลาดซึ่งจริงแล้วก็เป็นรายเดิม


สำหรับจุดขายที่บริษัทใช้ทำการตลาด ส่วนใหญ่เป็นในเรื่องดอกเบี้ยต่ำ และเน้นฐานลูกค้าเดิมมากกว่าลูกค้าใหม่ เพราะหลังจากเกิดโควิดยอมรับว่ายอดค้างชำระลูกหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งบริษัทฯเข้าใจลูกค้าก็พยายามเข้าไปช่วยเหลือเพื่อไม่ให้เกิดหนี้เสีย  ขณะเดียวกันบริษัทฯก็ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายดำเนินลง เพื่อปรับแผนรองรับการแข่งขันที่เกิดขึ้น และประคองธุรกิจให้รอดปลอดภัย ในระหว่างที่รอวัคซีนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกลับคืน  


ด้าน "เอนกพงศ์ พุทธาภิบาล" ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เอเซีย พลัส จำกัด  มองว่า ด้วยมูลค่าตลาดที่สูง และผลตอบแทนจากเพดานดอกเบี้ยที่สูงสุดถึง 24% เป็นแรงดึงดูดให้หลายบริษัทสนใจที่จะโดดร่วมวงมาชิงมาร์เก็ตแชร์ ในธุรกิจจำนำทะเบียนรถ ซึ่งเมื่อรายใหญ่ลงมาเล่นในเรื่องราคา ก็ทำให้รายเล็กต้องใช้ดอกเบี้ยเป็นตัวชูโรงด้วยเช่นกัน ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถที่จะรักษาส่วนแบ่งตลาดได้


แม้ว่าการลงสนามของผู้เล่นหลายราย ในมุมหนึ่งจะเปิดช่องให้คนที่เงินตึงมือหรือขาดสภาพคล่องสามารถนำสินทรัพย์ไปจำนำ เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนต่อเติมทุนให้กับธุรกิจฝ่าวิกฤติไปให้ได้ แต่ที่ต้องระวังคือการโหมปล่อยสินเชื่อมากเกินไป และการกู้เกินตัว ในภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็ม อาจนำไปสู่ภาวะหนี้เสียครั้งใหญ่ ที่ฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง