สถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2564 จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะถือเป็นช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” เศรษฐกิจไทย เพราะหากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ไม่สามารถควบคุมได้โดยเร็ว หรือหากยืดเยื้อ อาจกลายเป็นความเสี่ยงซ้ำเติมการจ้างงาน การบริโภค และการท่องเที่ยวในประเทศที่ยังเปราะบาง กระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี “ฟื้น” ตัวช้า และเติบโตต่ำกว่าคาดการณ์ ที่สำคัญมีความเสี่ยงที่การฟื้นตัวกลับไปสู่แนวโน้มเดิมในกรณีที่ไม่มีโควิด-19 จะลากยาวจนน่าเป็นห่วง เศรษฐกิจอินไซต์วันนี้จะวิเคราะห์ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของเศรษฐกิจไทยปี 2564 ว่ามีประเด็นอะไรต้องติดตามกันบ้าง
เริ่มจากการสรุปสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563 ที่ผ่านมากันก่อน ซึ่งถือเป็นปีแห่งความยากลำบากและเลวร้ายที่สุดปีหนึ่งของเศรษฐกิจไทยและหลายประเทศทั่วโลก เพราะถูกกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรง ซึ่งเป็นโรคที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและยังไม่มีวัคซีนและยารักษา จึงเป็นสถานการณ์ที่คาดการณ์และควบคุมได้ยาก จึงมีการปิดประเทศ และจำกัดการเดินทาง จึงกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง โดยเฉพาะไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ที่เศรษฐกิจในหลายประเทศต้องเผชิญภาวะการถดถอยอย่างรุนแรง หรือหดตัวลงลึกที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งประเทศไทยก็ถูกกระทบอย่างหนักเช่นกัน โดยเศรษฐกิจไทยหดตัวถึง 12.1%
แต่หลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดเริ่มคลีคลายในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 รัฐบาลในหลายประเทศเริ่มผ่อนปรนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้เศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว ที่สำคัญมีข่าวดีเกี่ยวกับความสำเร็จในการผลิตวัคซีนต่อต้านโควิด ถือเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของเศรษฐกิโลกและเศรษฐกิจไทย
สะท้อนจากตัวเลขจีดีพีในไตรมาสที่3 ของปี 2563 ของไทยที่ติดลบ 6.4% ซึ่งดีเกินคาด และหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.5%
รายการ "เศรษฐกิจ Insight" วันจันทร์ที่ 4 มกราคม 2564
https://www.youtube.com/watch?v=sWBvXSJuQX0
จากแนวโน้มดังกล่าวทำให้เกิดความมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในไตรมาสที่ 2 และกำลังปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 จากมาตรการกระตุ้นการบริโภค และการท่องเที่ยวในประเทศของรัฐบาล ประกอบกับการส่งออกมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
จากข้อมูลดังกล่าว หน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ประมาณการเศรษฐกิจไทย และสำนักวิจัยเศรษฐกิจของสถาบันการเงิน จึงพากันปรับคาดการณ์เศรษฐกิจหรือจีดีพีปี 2563 ดีขึ้นจากเดิมคาดการณ์ว่าจีดีพีปี 2563 จะหดตัวรุนแรงต่ำเป็นประวัติการณ์ หรือแย่กว่าวิกฤตตุ้มยำกุ้งที่จีดีพีหดตัวถึง 7.6% ในปี 2541 เป็นตัวติดลบน้อยลงกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง พร้อมกับปรับประมาณการปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวพลิกกลับเป็นบวกแน่นอน
ทั้งนี้ ข้อมูลการประมาณการจีดีพีปี 2564 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม หรือ สศช. ประมาณการเมื่อเดือนพ.ย. 63 และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประมาณการเดือนต.ค.63 ทั้งสองแห่งนี้ประมาณการก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่เริ่มต้นจากตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาครช่วงกลางเดือนธันวาคม 2563
อย่างไรก็ดีในเบื้องต้น ทาง สศค. กระทรวงการคลังจะปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 ใหม่ ช่วงปลายในเดือนมกราคมนี้ โดยคาดว่าจะปรับลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.5%
ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศประเทศไทย (ธปท.) ประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจปี 2564 ได้รวบผลกระทบของโควิด-19 ระลอกใหม่ไว้แล้ว (ประมาณการเมื่อ 23 ธ.ค.)
ส่วนสำนักวิจัยเศรษฐกิจของสถาบันการเงิน ก็ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2563 และปี 2564 โดยสำนักวิจัย CIMBT (30 ธ.ค. ) และ Krungthai COMPASS (29 ธ.ค.) ได้รวมผลกระทบการระบาดระลอกใหม่ไว้แล้ว
อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่ประมาณการในเดือนธันวาคม แต่ก่อนเกิดการระบาดระลอกใหม่ไม่กี่วัน ซึ่งจากการสอบถามเบื้องต้นบางแห่งยังยืนคงประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 แม้จะมีการระบาดระลอกใหม่ เช่น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เป็นต้น
แต่ความไม่แน่นอนยังมีค่อนข้างสูงว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้รวดเร็วแค่ไหน เพราะหากยืดเยื้อเกิน 1-2 เดือนอาจกระทบเศรษฐกิจทำให้การเติบโตในปีนี้ต่ำกว่าตัวเลขที่คาดการณ์กันไว้ และอาจมีการปรับตัวเลขประมาณการปี2564 กันใหม่อีกครั้ง ดังนั้นจึงเป็นช่วงหัวเลี้ยวต่อของเศรษฐกิจไทย
โดย ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย( ธปท.) “ดร.ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส” ให้ความเห็นไว้ว่า เศรษฐกิจในปี 2564 มีความไม่นอนนสูง และเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย
ดังนั้น ความเสี่ยงการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อจังหวะการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในปี 2564 ซึ่งมีความเปราะบาง โดยเฉพาะการว่างงานที่น่าเป็นกังวลมากที่สุด เนื่องจากอัตราการว่างงานยังอยู่ระดับสูง
โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานล่าสุดเดือนพฤศจิกายน2563 การจ้างงานปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย แต่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูงที่ 780,000 คน และมีผู้ขอรับสิทธิประกันการวางงานจากประกันสังคม 470,000 ราย
ที่สำคัญในเดือนพฤศจิกายนมีจำนวนผู้เสมือนว่างงานมีสูงถึง 2.2 ล้านคน แบ่งเป็นผู้เสมือนว่างงานในภาคเกษตร ( หรือผู้มีงานทำต่ำกว่า 20 ชั่วโมง/สัปดาห์) 1.3 ล้านคน และนอกภาคการเกษตร (การผลิต ก่อสร้าง การค้า การบริการ) (ผู้ที่มีงานทำต่ำกว่า 24 ชั่วโมง/สัปดาห์ ) 900,000 คน โดยเฉพาะภาคบริการมีมากที่สุด
ดังนั้นหากควบคุมการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศไม่ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น หรือที่ธปท. คาดการณ์คือไม่เกิน 2 เดือน หากยืดเยื้อกว่านั้นหรือขยายวงกว้างเพิ่มขึ้น กลุ่มผู้เสมือนว่างงานจะมีความเสี่ยงตกงาน หรือทำให้มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นทันที โดยเฉพาะแรงงานในภาคบริการที่ต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ ตลาดแรงงานถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะหากตลาดแรงงานยังไม่ฟื้นตัว มีคนตกงานจำนวนมาก ย่อมส่งผลกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศ
โดยการบริโภคภาคเอกชนในประเทศแม้มีสัญญาณเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นจากแรงสนับสนุนมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐและวันหยุดยาวพิเศษช่วงที่ผ่านมา แต่กำลังซื้อภาคครัวเรือนยังเปราะบางสะท้อนจากอัตราการว่างงานที่ยังสูง โดยเฉพาะธุรกิจที่พักแรมยังปรับลดการจ้างงานลงต่อเนื่องซึ่งธุรกิจดังกล่าวมีสัดส่วนของลูกจ้างรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน สูงถึง 77% ซึ่งลูกจ้างกลุ่มนี้ถือเป็นครัวเรือนกลุ่มเสี่ยงที่มีความสามารถในการรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจ (buffer) ต่ำและอาจมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น
ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวซึ่งมีความสำคัญต่อเศรษกิจไทยมาก เพราะไทยพึ่งพิงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ซึ่งในปี2564 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขึ้นอยู่กับการ กระจายวัคซีนต่อต้านโควิด-19 จะทั่วถึงและมีประสิทธิภาพแค่ไหน
โดยธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าปี 2564 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาจำนวน 5.5 ล้านคน โดยอยู่บนสมติฐานว่าประเทศที่เป็นนักท่องเที่ยวหลักของไทยจะได้รับการฉีดวัคซีนกระจายให้ประชากรอย่างน้อย 30% ขณะที่ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนกลางปี2564 แต่จะกระจายฉีดวัคซีนช่วงไตรมาส4 ของปี2564 จำนวน 13 ล้านคน (ข้อมูล ณ 23 ธ.ค.)
และคาดว่าจะช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ประเทศส่วนใหญ่ รวมถึงไทยได้รับการฉีดวัคซีนถึงระดับที่มีภูมิคุ้มกันแล้วหมู่ หรือกระจายได้ราว 60-70% ของประชากร ก็น่าจะเริ่มเปิดประเทศแบบ commercial fight โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขการฉีดวัคซีนและกักตัว
แต่ท่ามกลางแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศที่ยังมีความรุนแรง ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ 3.2%
อย่างไรก็ดี ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคมที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ระบุถึงความคืบหน้าในการจัดหาวัคซีน โควิด-19 ว่า ภายในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2564 วัคซีนจะถูกส่งมาถึงประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 2 ล้านชุดก่อน โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้การสนับสนุนเต็มที่ทั้งงบประมาณ และ ได้สั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันทีเพื่อเร่งรัดกระบวนการจัดหาวัคซีนมาให้ถึงประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงโดยเร็วที่สุด
โดยกระทรวงสาธารณสุขได้มีความพยายามจัดหาวัคซีนโควิด -19 จากทุกแหล่งให้ได้มากที่สุด ล่าสุดได้เจรจาขอซื้อวัคซีนจำนวน 2 ล้านโดส จากผู้ผลิต ในราคา 17 ดอลลาร์ต่อโดส ซึ่งเตรียมเสนอของบกลาง 1,170 ล้านบาทในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 5 มกราคมนี้ โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้แจ้งให้สำนักงบประมาณรับทราบแล้ว
นอกจากนี้ ยังได้เจรจากับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ขอซื้อวัคซีนเพิ่มอีก 26 ล้านโดส รวมเป็น 52 ล้านโดส ซึ่งการนำเข้าล็อตถัดไปไม่ต้องวางเงินมัดจำล่วงหน้า ล่าสุดประเทศอังกฤษได้อนุมัติการใช้วัคซีนชนิดนี้ในประเทศแล้วช่วยให้เกิดความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยยิ่งขึ้น
ดังนั้น หากคนไทยสามารถได้รับวัคซีนเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม คือจากกลางปี 2564 เป็นช่วงไตรมาสแรกของปี ก็จะเป็นสัญญาณที่ดีต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว
ขณะที่ ดร.ดอน นาครทรรพ ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธปท. ระบุว่า แม้ ธปท. จะบอกว่ามีโอกาสที่จะเห็นเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าประมาณการ หากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบนี้นำไปสู่การงดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในวงกว้างอีกครั้ง แต่เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ก็น่าจะยังขยายตัวเป็นบวกได้ เพราะปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่กำหนดทิศทางของเศรษฐกิจไทยในข่วงวิกฤตโควิด-19 คือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยมีการใช้จ่ายกันเองในประเทศเป็นปัจจัยเสริม
ซึ่งประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดของ ธปท. ใช้สมมติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปี 2564 ที่เพียง 5.5 ล้านคน ซึ่งต่อให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาเลย ไม่ว่าจะเพราะกลัวการติดเชื้อ หรือเพราะรัฐบาลยังคงจำกัดการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยว ก็ทำให้ประมาณการลดลงไม่มาก ต่างจากปี 2563 ที่จีดีพีดำดิ่งเพราะจำนวนนักท่องเที่ยวหายไปจากปี 2562 ถึงกว่า 30 ล้านคน คิดเป็นรายได้เงินตราระหว่างประเทศที่หายไป 15 ล้านล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 9 ของจีดีพีปี 2562
นอกจากนี้ ในส่วนของการใช้จ่ายกันเองในประเทศ เชื่อมั่นว่าภาครัฐเรียนรู้การรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจกับสาธารณสุขจากการระบาดรอบแรก และหากการแพร่ระบาดมีความรุนแรงมาก ภาครัฐก็มีความพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด และความไม่เชื่อมั่นในการใช้จ่าย โดยการออกมาตรการการเงิน การคลัง และสถาบันการเงินเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้ในที่สุดแล้ว เศรษฐกิจยังประคองตัวไปได้ ดังเช่นที่เห็นในหลายประเทศ
แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่า คือ ผลกระทบทางเศรษฐกิจของการระบาดรอบใหม่จะทำให้เวลาที่ต้องใช้ในการฟื้นตัวลากยาวออกไป การฟื้นตัวในที่นี้ ไม่ใช่การฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ที่หลายสำนักคาดว่าจะใช้เวลา 2 ปี (ปี 2565) แต่หมายถึงการฟื้นตัวกลับไปสู่แนวโน้มเดิมในกรณีที่ไม่มีโควิด-19
เพื่อให้เห็นภาพ (ในกราฟฟิก) ส่วนที่เป็นเส้นทึบ สมมติให้เศรษฐกิจไทยตั้งแต่ปี 2563 ขยายตัว 3.4% ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ย 5 ปี ของอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจระหว่างปี 2558-2562 ไปเรื่อยๆ ส่วนที่เป็นเส้นประ สมมติให้เศรษฐกิจหดตัว6.0 %ในปี 2563 และขยายตัว 4.0% ตามประมาณการของสภาพัฒน์ฯ ซึ่งสูงกว่าประมาณการของ ธปท. ทั้งสองปี จากนั้นให้เศรษฐกิจขยายตัว 5.0% ซึ่งเป็นเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ต่อเนื่องไปทุกปี
พบว่า กว่าเส้นประจะไล่ตามเส้นทึบทันก็เป็นปี 2570 ซึ่งถ้าตัวเลขจริงออกมาต่ำกว่าที่สมมติไว้ การตัดกันก็จะลากยาวออกไปอีก เพราะฉนั้น ในมิติสาธารณสุข ศึกนี้อาจจะจบภายใน 2-3 ปีเมื่อเรามีภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ในมิติเศรษฐกิจ “ศึกนี้ยังอีกยาวไกล”
อีกประเด็นที่ ดร.ดอน กังวลที่สุด คือ วิกฤตโควิด-19 จะมีผลถาวรต่อ “ศักยภาพ” การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย จากประสบการณ์ในอดีต หลังวิกฤตปี 2540-41 และวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2551-52 เราไม่เคยกลับไปขยายตัวได้สูงเท่ากับค่าเฉลี่ย 5 ปี ก่อนวิกฤต ได้อีกเลย ซึ่งหมายความว่า อัตราเฉลี่ย 5% ในช่วงปี 2565-2570 ที่สมมติไว้ในส่วนของเส้นประเป็นสิ่งที่ท้าทายยิ่ง
ดังนั้น การประคับประคองเศรษฐกิจในปี 2564 จึงมีความสำคัญมาก เพราะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยาว
เพราะฉะนั้นเชื่อได้ว่ากรณีจำเป็นหากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเศรษฐกิจจะต้องออกมาตรการเพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็นมาตรการเยียวยา มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการพักหนี้ที่อาจต้องขยายเวลาเพิ่มอีก เป็นต้น