รีเซต

สรท. ห่วงโควิดรอบใหม่ฉุดส่งออกไม่ฟื้น ไตรมาส 1 ยังทรุด

สรท. ห่วงโควิดรอบใหม่ฉุดส่งออกไม่ฟื้น ไตรมาส 1 ยังทรุด
TNN ช่อง16
5 มกราคม 2564 ( 15:35 )
41

วันนี้ ( 5 ม.ค.64)นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท.ได้คาดการณ์การส่งออกไทยในปี2563 จะหดตัว 7% ถึง 6% และคาดว่าในปี 2564 จะขยายตัวได้ 3-4 % โดยยังไม่รวมผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ยังขยายเป็นวงกว้างโดยประเมินว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 การส่งออกยังคงได้รับผลกระทบ และจะยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากประเทศคู่ค้าทั่วโลกมีแนวโน้วการระบาดรุนแรงของโควิด-19

 โดยการส่งออกเดือนพฤศจิกายน 2563 มีมูลค่า 18,932 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -3.65% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 585,911 ล้านบาท หดตัว -0.65% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ในขณะที่การนำเข้าในเดือนพฤศจิกายน 2563 มีมูลค่า 18,880 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -0.99% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 592,369 ล้านบาท ขยายตัว 1.98% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2564 มีทั้งการกลับมาระบาดครั้งใหม่ของโควิด-19 ในประเทศคู่ค้าและภายในประเทศ สถานการณ์ระบาดโควิด-19 ของประเทศคู่ค้าทั่วโลกกลับมามีแนวโน้มรุนแรงและยืดเยื้อโดยเฉพาะในสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร รวมถึงเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และภายในประเทศไทย ซึ่งอาจส่งผลต่อกิจกรรมการผลิต จากการประกาศใช้มาตรการล็อคดาวน์และการหดตัวลงของกำลังซื้อของประเทศคู่ค้า ตลอดจนค่าเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง 

ส่วนการผลิตและการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ของประเทศต่างๆทั่วโลก อาจจะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรจนกว่าจะจัดสรรไปยังประเทศต่างๆ ในส่วนของไทยวัคซีนชุดแรกน่าจะมาถึงช่วงกลางปี 2564 หรือเร็วกว่านั้นเล็กน้อย ทั้งนี้จะมีการเริ่มวัคซีนให้ในกลุ่มที่จำเป็นก่อนและอาจต้องใช้เวลาในการให้วัคซีนครอบคลุมคนส่วนใหญ่

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ได้มีข้อเสนอแนะให้ภาครัฐ ออกมาตรการเร่งด่วนภายใน 2 เดือน อาทิ มาตรการรองรับสถานการณ์โควิดรอบใหม่ ช่วยเหลือผู้ประกอบการหรือต่ออายุมาตรการที่ออกมาในช่วงโควิด-19 ระบาดในรอบแรก เช่น ปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมในการติดต่อหน่วยงานราชการ ขยายระยะเวลาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ขยายระยะเวลาการชำระภาษี และขอให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เร่งออกมาตรการเยียวยาเพื่อช่วยผู้ประกอบการ อาทิ ขอให้ ธปท. เพิ่มบทบาทธนาคารรัฐในการอนุมัติสินเชื่อมาตรการ Soft loan ให้กับผู้ประกอบการมากขึ้นแก้ไขปัญหาเงินบาทแข็งค่ารวมถึงเร่งแก้ไขปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน พร้อมกันนี้ให้มีการเยียวยาลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน


เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง