คลังชงครม.ต่ออายุเราชนะ คาดใช้เม็ดเงิน 1-2แสนล้าน
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังแจ้งวา ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (่ 20 เม.ย.) กระทรวงการคลังจะเสนอแนวทางให้ความช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนจากผลกระทบโควิด-19 ให้พิจารณาอนุมัติ เนื่องจากประเมินว่าโควิด-19 ระลอกใหม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง จากการแพร่กระจายไปยังทุกจังหวัดทั่วประเทศ จึงจะเสนอให้ต่ออายุและเพิ่มเงินในมาตรการเราชนะออกไปอีก 1-2 เดือนจากเดิมที่สิ้นสุดในวันที่ 31 พ.ค.นี้ เป็นสิ้นสุดเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ ซึ่งจะใช้เงินเพิ่ม 100,000-200,000 ล้านบาท และดำเนินการต่อเนื่องได้ทันที
ทั้งนี้หาก ครม.เห็นชอบยังต้องหารือกับคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ เนื่องจากต้องมีการขออนุมัติและเสนอขอ ครม.โยกเงินในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันเหลืองบไม่มากให้มาอยู่ในส่วนของวงเงินเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อใช้เยียวยาช่วยเหลือประชาชนต่อไป
นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า มีงบประมาณเพียงพอสำหรับใช้ในการเยียวยาและพยุงเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 เฉลี่ยประมาณ 2.6 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงบจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ยังเหลืออยู่ประมาณ 2 แสนล้านบาท และจากงบประมาณรายจ่ายงบกลางปี 2564 รวมทั้งงบกลางกรณีฉุกเฉินและจำเป็นที่ยังใช้ได้ อีกประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) สามารถอนุมัติเพื่อนำเงินดังกล่าวมาใช้ได้เมื่อจำเป็น
ทั้งนี้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องโอนงบประมาณจากส่วนราชการมาใช้ในการเยียวยาผลกระทบโควิด-19 เพิ่ม เหมือนในปี 2563 ในช่วงนั้นยัง่ไม่ได้ออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และในการโอนเงินจากส่วนราชการจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน ซึ่งหากจะทำตอนนี้คงไม่ทัน และมองว่าวงเงินที่เหลืออยู่ยังมีเพียงพอสำหรับรับมือโควิด-19 เพราะในการออกมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโควิดแต่ละครั้งจะใช้เงินไม่เกิน 100,000 ล้านบาท ส่วนงบจัดซื้อวัคซีนที่อนุมัติแล้ว 6,000 ล้านบาท อยู่ในส่วนของงบปี 64 ไม่ได้ตั้งงบจัดซื้อไว้ในงบปี 65 แต่หากจำเป็นต้องใช้เงินสามารถใช้งบของกรมควบคุมโรคสำหรับการจัดซื้อวัคซีนทั่วไปได้
สำหรับในการประชุม ครม. วันที่ 20 เม.ย.นี้ สำนักงบประมาณจะเสนอให้พิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท เพื่อขอจัดทำเอกสารงบประมาณ โดยแบ่งเป็นประมาณการรายได้ 2.4 ล้านล้านบาท และการกู้งบประมาณขาดดุล 700,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบ 4 รัฐบาลยังมีงบกลางที่จะดึงมาใช้ ได้อีก 89,000 ล้านบาท รวมทั้งงบกลางฉุกเฉินเมื่อจำเป็นที่สำรองไว้สำหรับภัยพิบัติอีก 50,000 ล้านบาท ส่วนความจำเป็นในการกู้เงินเพิ่มเติมจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทนั้น ตามวินัยการเงินการคลังกำหนดว่า หนี้สาธารณะต้องไม่เกิน 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งสามารถใช้เกณฑ์นี้ได้ในภาวะปกติ แต่ในช่วงโควิด ถ้าจะกู้เงิน เพิ่มอาจต้องขยับเพดานวินัยการเงินการคลัง อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังจะต้องจัดประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นต้น ว่าควรจะขยับเพดานขึ้นเท่าไร เมื่อขยับเพดานกู้แล้วนำเงินไปทำอะไรบ้าง จะพยุงเศรษฐกิจหรือเยียวยาประชาชนได้อย่างไร