รีเซต

เกียรตินาคินภัทร หั่นจีดีพีปี’64 เหลือ 2% พิษโควิดรอบใหม่ซ้ำเศรษฐกิจไทยตกหลุมลึก

เกียรตินาคินภัทร หั่นจีดีพีปี’64 เหลือ 2% พิษโควิดรอบใหม่ซ้ำเศรษฐกิจไทยตกหลุมลึก
ข่าวสด
2 กุมภาพันธ์ 2564 ( 16:13 )
92
เกียรตินาคินภัทร หั่นจีดีพีปี’64 เหลือ 2% พิษโควิดรอบใหม่ซ้ำเศรษฐกิจไทยตกหลุมลึก

เกียรตินาคินภัทร หั่นจีดีพีปี’64 เหลือ 2% พิษโควิดรอบใหม่ซ้ำเศรษฐกิจไทยตกหลุมลึก เลวร้ายหนักเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวไม่ได้ดิ่งเหลือ 1.2%

 

เกียรตินาคินฯหั่นจีดีพี - นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บล.เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2564 KKP Research ปรับลดอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) เหลือ 2% จากก่อนหน้านี้คาดการณ์ไว้เติบโต 3.5% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยไม่ได้ฟื้นตัวเร็ว เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ และเศรษฐกิจโลก ด้วยไทยตกหลุมลึกกว่าประเทศอื่นทั่วโลก ส่วนหนึ่งมาจากตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อย่าง ภาคการท่องเที่ยวที่คิดเป็น 10-12% ของจีดีพี จากนักท่องเที่ยวหายไป ซึ่งจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่นำไปสู่การออกมาตรการจำกัดการระบาด และความไม่แน่นอนต่างๆ อาจทำให้ความสามารถในการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศล่าช้าออกไปอีก

 

ในกรณีเลวร้ายหากประเทศไทยไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ จนต้องมีมาตรการจำกัดที่ยาวนานขึ้น และไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เลยตลอดทั้งปี อาจมีความเสี่ยงที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยหดตัวถึง 1.2%ในปีนี้ นอกจากนี้การชะลอลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่ใหญ่พอที่จะกระตุ้นได้มากนัก นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการเงินและการคลังต้องเข้มข้นขึ้น หลังจากมาตรการกระตุ้นผ่านโครงการเราชนะ ใช้งบประมาณไป 2 แสนล้านบาท ยังเหลืออีก 2 แสนล้านบาท มีความจำเป็นต้องใช้เพื่อกระตุ้นเพิ่ม ส่วนนโยบายด้านการเงิน การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 0.5% ถือว่าต่ำมากแล้ว แต่ยังส่งผลกระทบอีกมาก อาจจะต้องมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม

 

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า เป้าหมายการดำเนินงานของธนาคารเกียรตินาคินภัทร ในปี 2564 ยังคงต้องมีการพิจารณาแผนการดำเนินงานอย่างระมัดระวัง เพื่อรักษาสมดุลของ 3 ธุรกิจ คือ ธุรกิจการเงิน ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และธุรกิจไพเวทแบงก์กิ้ง หลังจากเกิดโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ รายได้ของภาคธุรกิจ และกำลังซื้อของภาคครัวเรือน ซึ่งมีผลต่อความสามารถในการชำระหนี้

 

ธนาคารวางเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อในปีนี้ที่ 5% น้อยกว่าปีที่แล้วที่สินเชื่อเติบโตถึง 12% ถือว่าทำได้ดีกว่าที่คาดไว้ ส่วนหนึ่งมาจากมีกลุ่มลูกหนี้ที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้ในรอบแรก จึงทำให้พอร์ตสินเชื่อคงค้างไม่ได้ลดลง ส่วนในปีนี้ธนาคารจะยังคงระมัดระวังการปล่อยเชื่ออย่างต่อเนื่อง โดยเน้นกลุ่มสินเชื่อที่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ และยังมีทิศทางการเติบโตที่ดี แม้ว่าจะมีการแข่งขันในตลาดสูง

 

ส่วนภาพรวมสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในปีนี้มองว่าจะเพิ่มขึ้นมาระดับ 4% จากสิ้นปีที่แล้วอยู่ที่ 2.9% และธนาคารจะรักษาระดับเอ็นพีแอลในปีนี้ให้ไม่เกิน 4.5% ซึ่งการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอล ส่วนหนึ่งมาจากมีกลุ่มลูกค้า 5% ที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้รอบแรกเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาไปแล้วไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ ทำให้กลุ่มลูกค้าดังกล่าวจะเข้ามาเป็นเอ็นพีแอลในช่วงต้นปีนี้ และยังคงต้องติดตามว่าลูกค้าที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้รอบ 2 จะกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติมากน้อยเพียงใดหลังจากสิ้นสุดมาตรการ โดย 1 เดือนแรกของปีนี้มีลูกค้าของธนาคารสมัครเข้ามาแล้ว 10,000 ราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง