รู้จัก “THEOS-2” ดาวเทียมสัญชาติไทยสำรวจโลก
ความพยามยามในการเดินหน้าภารกิจส่งดาวเทียมสัญชาติไทยขึ้นสู่ห้วงอวกาศ นั่นก็คือ “ดาวเทียมธีออส-2” (THEOS-2) ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจโลก หรือ Earth observation satellite หนึ่งใน 2 ดวง ที่อยู่ภายใต้โครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนาที่ดำเนินการ ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ต้องเลื่อนออกไปก่อน จากเดิมที่ ดาวเทียม THEOS-2 มีกำหนดจะถูกปล่อยออกจาก ท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา (Guiana Space Center) ทวีปอเมริกาใต้ ในวันเสร์ที่ 7 ต.ค.2566 เวลา 08.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย แต่ใน เวลา 08.37 น. ระบบแจ้งเตือนพบปัญหาจากอุปกรณ์บางอย่าง ทาง Arianespace รวมถึง Airbus ที่เป็นผู้พัฒนาดาวเทียม THEOS-2 ร่วมกับ GISTDA จึงต้องขอเวลาตรวจสอบเพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดกับทั้งจรวดและดาวเทียม จากนั้นในเวลา 08.42 น. ได้รับการยืนยันว่า ยังไม่สามารถส่งดาวเทียมได้ ท่ามกลางความเสียดายของทุกฝ่าย ที่รอชมการปล่อยดาวเทียมในครั้งนี้
จากข้อมูลของ GISTDA ระบุว่า ความสำคัญในการส่ง THEOS-2 ขึ้นทำหน้าที่บนอวกาศ จะทำให้ได้ข้อมูลภูมิศาสตร์ที่ละเอียดมาก โดยดาวเทียมดวงนี้ให้รายละเอียดสูงมากขนาด 50 เซนติเมตร ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทย และเป็นดาวเทียมระดับปฎิบัติการที่จะทำหน้าที่สานต่อภารกิจสำรวจโลก ต่อจากดาวเทียมไทยโชต หรือ THEOS-1 ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา โดย THEOS-1 เป็นดาวเทียมรายละเอียดสูง ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2551 จากฐานปล่อยจรวดเมืองยาสนี ประเทศรัสเซีย ด้วยจรวดนำส่ง "เนปเปอร์" ถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยส่งดาวเทียมชนิดนี้และ ทำหน้าที่เก็บข้อมูลภาพถ่ายร่วมกับดาวเทียมดวงอื่น ๆ จากทั่วโลก ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำให้สามารถเฝ้าระวังและหาแนวทางรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีได้ดีขึ้น
สำหรับ ดาวเทียมน้องใหม่สัญชาติไทย “THEOS-2” จัดเป็นดาวเทียมรายละเอียดสูงมาก และถูกออกแบบให้สามารถใช้งานได้เป็นเวลา 10 ปี หรือใช้งานได้ถึงปี 2576 แต่ด้วยเทคโนโลยีการออกแบบการใช้งานจากทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างและพัฒนาดาวเทียมจากบริษัทแอร์บัสฯ สาธารณรัฐฝรั่งเศส ทำให้มั่นใจว่า THEOS-2 จะใช้งานได้นานเท่ากับหรือมากกว่า “THEOS-1” โดย THEOS-2 เป็นดาวเทียม Remote Sensing จะทำหน้าที่บันทึกภาพบนพื้นผิวโลกและข้อมูลชั้นบรรยากาศ มีน้ำหนัก 425 กิโลกรัม กว้าง 1.2 เมตร ยาว 1.2 เมตร และสูง 1.8 เมตร สามารถบันทึกภาพได้ในหลายช่วงคลื่น (multi spectral) ด้วย Optical Sensor ได้ที่ความละเอียดสูงถึง 50 ซม./pixel ซึ่งจะโคจรอยู่สูงจากพื้นโลกประมาณ 621 กิโลเมตร ถือเป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit: LEO) ที่สามารถบันทึกภาพได้ทุกพื้นที่ทั่วโลก โดยโคจรกลับมาที่ตำแหน่งเดิมทุก ๆ 26 วัน แต่โคจรผ่านประเทศไทยทุกวัน และสามารถปรับเอียงเพื่อการถ่ายภาพ ได้ 45 องศา มีความกว้างในการถ่ายภาพ อยู่ที่ 10.3 กิโลเมตร สามารถถ่ายภาพและส่งข้อมูลกลับมายังสถานีภาคพื้นดินได้ไม่ต่ำกว่า 74,000 ตารางกิโลเมตรต่อวัน
ด้วยคุณสมบัติทางเทคนิคต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ข้อมูลที่ได้รับจากดาวเทียม THEOS-2 เป็นข้อมูลที่มีคุณภาพสูงและมีมีความทันสมัย สามารถใช้ประโยชน์ได้ดีในภารกิจที่ต้องการข้อมูลเชิงพื้นที่หรือแผนที่ที่มีความละเอียดสูง โดยเฉพาะการจัดการทางการเกษตร การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม งานความมั่นคง การบริหารจัดการที่ดิน การดูความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ การบริหารจัดการน้ำ และภารกิจสำคัญอื่นๆ โดย GISTDA ระบุว่า ดาวเทียม “THEOS-2” เป็นเทคโนโลยีดาวเทียวที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยฝีมือคนไทย ในโครงการ THEOS-2 ถือเป็นดาวเทียมสำรวจดวงแรกของประเทศไทยในระดับ Industrial Grade ที่วิศวกรดาวเทียมไทยได้มีส่วนสำคัญในออกแบบและพัฒนาร่วมกับองค์กรต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ ความชำนาญ และมีชื่อเสียงระดับโลกทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ โดยโครงการ THEOS-2 มีมูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท และ มีส่วนประกอบจำนวนมาก ทั้งตัวดาวเทียมจนถึงระบบภาคพื้น และหนึ่งในนั้นคือการผลิต ดาวเทียมเล็ก หรือ THEOS-2 SmallSAT ที่เป็นฝีมือการพัฒนาโดยวิศวกรไทยร่วมกับ Surrey Satellite Technology หรือ SSTL ในสหราชอาณาจักร และหนึ่งในจุดประสงค์ของการริเริ่มโครงการ THEOS-2 คือการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรไทย
ทั้งนี้ GISTDA จะเปิดโอกาสให้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา สามารถเข้าถึงข้อมูลดาวเทียม THEOS-2 เพื่อจะได้นำไปต่อยอดหรือการบริการเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงจะเป็นแรงผลักดันเพื่อขับเคลื่อนด้านการศึกษา การวิจัยและนวัตกรรมในการใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ และเทคโนโลยีอวกาศในการพัฒนาองค์ความรู้ สร้างนักพัฒนานวัตกรรมทุกระดับตั้งแต่ระดับเยาวชน startup SMEs และบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นในการสร้างคน สร้างความรู้ สร้างนวัตกรรม เพื่อพัฒนาประเทศ
แม้ว่า การส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่ห้วงอวกาศในครั้งนี้ จะถูกเลื่อนออกไปก่อน แต่ความพยายามในครั้งนี้ถือเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความก้าวหน้าแบบก้าวกระโดดของประเทศไทยในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียม นวัตกรรม สิ่งแวดล้อม ที่จะนำไปสู่การต่อยอดทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ ที่หลายฝ่ายเชื่อมั่นว่า จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนไทย โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมดาวเทียมในอนาคต...
เรียบเรียงโดย
ปุลญดา บัวคณิศร