ทรัมป์แต่งตั้ง “ฌอน ดัฟฟี่” รักษาการผู้บริหาร NASA ชั่วคราว ส่วนผู้บริหารถาวรต้องรอปี 2026

องค์การนาซาเข้าสู่ยุคการบริหารใหม่ภายใต้รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์อีกครั้ง หลังมีการประกาศแต่งตั้ง ฌอน ดัฟฟี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ดำรงตำแหน่ง รักษาการผู้บริหารองค์การ NASA โดยยังคงควบตำแหน่งเดิมต่อไป ทรัมป์ประกาศเรื่องนี้ผ่าน Truth Social เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พร้อมยกย่องดัฟฟี่ว่าเป็น “ผู้นำที่ยอดเยี่ยม”
ข้อเสนอตัดงบนาซาลง 25%
การแต่งตั้งเกิดขึ้นในช่วงเวลาสำคัญ ก่อนที่วุฒิสภาจะพิจารณางบประมาณฉบับใหม่ ซึ่งเสนอให้ตัดงบประมาณโดยรวมของ NASA ลงเกือบ 25% และลดภารกิจวิทยาศาสตร์เกือบครึ่งหนึ่ง ดัฟฟี่ตอบรับตำแหน่งผ่านโพสต์บน X ว่า “รู้สึกเป็นเกียรติ... ถึงเวลายึดครองอวกาศแล้ว ปล่อยยานกันเถอะ”
ดัฟฟี่จะเข้ามาแทน เจเน็ต เปโตร อดีตผู้อำนวยการศูนย์อวกาศเคนเนดี ซึ่งดำรงตำแหน่งรักษาการตั้งแต่ทรัมป์กลับสู่ทำเนียบขาวเมื่อต้นปี 2025 ขณะที่ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ได้ถอนการเสนอชื่อ จาเร็ด ไอแซกแมน มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง Shift4 Payments และพันธมิตรของ SpaceX จากตำแหน่งผู้นำ NASA ท่ามกลางกระแสวิจารณ์เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
แม้ไอแซกแมนจะมีคุณสมบัติเหมาะสมและผ่านกระบวนการพิจารณาอย่างราบรื่น แต่ความสัมพันธ์ของเขากับ อีลอน มัสก์ ถูกมองว่าเป็นประเด็นอ่อนไหวทางการเมือง การถอนชื่อของเขาถูกตีความว่าเป็นผลจากความตึงเครียดระหว่างทรัมป์และมัสก์ ไอแซกแมนแสดงความเห็นเชิงบวกต่อการแต่งตั้งดัฟฟี่ โดยเรียกว่าเป็น “การตัดสินใจที่ยอดเยี่ยม”
ฌอน ดัฟฟี่อดีตพิธีการรายการทีวี
ดัฟฟี่เองเป็นอดีตพิธีกร Fox Business และอดีต ส.ส. พรรครีพับลิกันจากรัฐวิสคอนซิน เคยมีบทบาทในรายการ MTV อย่าง The Real World และ Road Rules ก่อนเข้าสู่วงการเมืองในปี 2011 และรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เขามีบทบาทเด่นในการผลักดันการปรับปรุง FAA ท่ามกลางปัญหาด้านความปลอดภัย การชนกันกลางอากาศ และขาดแคลนบุคลากร
การแต่งตั้งดัฟฟี่ในครั้งนี้ แม้ไม่มีประสบการณ์ด้านอวกาศโดยตรง แต่สะท้อนให้เห็นถึงแนวทาง “คุมเกมจากคนใน” ของทรัมป์ โดยเฉพาะเมื่อมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของนาซากว่า 2,000 คน อาจลาออกจากหน่วยงานภายในสิ้นปีงบประมาณ 2025 อันเป็นผลจากนโยบายลดขนาดรัฐบาลและโครงการปรับลดกำลังพล
ความท้าทายในภารกิจดวงจันทร์และดาวอังคาร
นโยบายงบประมาณฉบับใหม่ของทำเนียบขาวยังเปลี่ยนจุดเน้นของ NASA ไปสู่ภารกิจสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคาร โดยลดความสำคัญของการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ส่งผลให้ภารกิจอวกาศกว่า 40 โครงการอาจต้องถูกยุติ และหลังวันที่ 30 กันยายน ยังไม่มีความชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่หรือโครงการใดจะสามารถเดินหน้าต่อได้
ขณะที่เปโตร ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บริหารที่ได้รับความเคารพ ได้พยายามดำเนินการเปลี่ยนแปลงภายในเพื่อรองรับแนวทางรัฐบาลอย่างเต็มที่ เธอเคยกล่าวในการประชุมเมื่อเดือนเมษายนว่า “ฉันคือคนที่รู้จักนาซาดีที่สุด และตั้งตารออนาคตของมัน” ตอนนี้ภาระเหล่านั้นได้ตกอยู่บนบ่าของดัฟฟี่ ซึ่งต้องเผชิญกับแรงกดดันทั้งจากภายในและภายนอก เพื่อพาองค์การอวกาศสหรัฐฯ ฝ่าคลื่นความเปลี่ยนแปลงอีกระลอกหนึ่ง
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
