รีเซต

ค้นพบ Stem Cell ตัวใหม่ ! ซ่อมหลอดเลือด เนื้อเยื่อ เสริมภูมิคุ้มกัน

ค้นพบ Stem Cell ตัวใหม่ ! ซ่อมหลอดเลือด เนื้อเยื่อ เสริมภูมิคุ้มกัน
TNN ช่อง16
4 ตุลาคม 2567 ( 13:18 )
5
ค้นพบ Stem Cell ตัวใหม่ ! ซ่อมหลอดเลือด เนื้อเยื่อ เสริมภูมิคุ้มกัน

ทีมนักวิจัยจากสถาบันวิจัยการแพทย์แห่งออสเตรเลียใต้ (SAHMRI) ได้ค้นพบเซลล์ต้นกำเนิด (stem cell) ชนิดใหม่ที่มีชื่อว่า “เอ็นโดแม็ก โปรเจนิเตอร์” (EndoMac progenitors) ซึ่งมีศักยภาพในการซ่อมแซมหลอดเลือดและเนื้อเยื่อ เพราะสามารถพัฒนาเป็นทั้งเซลล์บุผนังหลอดเลือด (endothelial cells) ที่สร้างหลอดเลือด และเซลล์แมกโครฟาจ (macrophages) ที่ทำหน้าที่สำคัญในกระบวนการซ่อมแซมเนื้อเยื่อและป้องกันระบบภูมิคุ้มกัน


นักวิทยาศาสตร์ได้คาดการณ์มานานกว่า 100 ปีว่ามีเซลล์ ที่มีความสามารถดังกล่าว แต่เพิ่งจะได้รับการยืนยันผ่านการวิจัยครั้งนี้ ที่ใช้หนูทดลองในการทดสอบและพบเซลล์เหล่านี้ ที่ผนังชั้นนอกของหลอดเลือดใหญ่ (aorta) ของหนูโตเต็มวัย 


ดร. ซานูรี ลีย์อานจ์ (Sanuri Liyange) นักวิจัยโครงการนี้ และทีมของเธอประสบความสําเร็จในการแยกเซลล์เหล่านี้ออกจากหนู เพาะเลี้ยงเซลล์ และสังเกตการแบ่งตัวของเซลล์ เซลล์เหล่านี้จะถูกกระตุ้นเมื่อร่างกายเกิดการบาดเจ็บหรือมีการไหลเวียนเลือดที่ไม่ดี ทำให้เกิดการขยายตัวและช่วยในการซ่อมแซม โดยการทดสอบในหนูที่เป็นโรคเบาหวานแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการรักษาบาดแผลที่น่าทึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ร่างกายไม่สามารถฟื้นฟูได้ตามปกติ อาจนำไปสู่การปฏิวัติการรักษาโรคต่าง ๆ ในอนาคต


สิ่งที่ทำให้ EndoMac progenitors แตกต่างจาก stem cell อื่น ๆ คือ การไม่มี “self markers” หรือโมเลกุลบนพื้นผิวของเซลล์นิวเคลียสทุกเซลล์ในร่างกาย ซึ่งจะมีความแตกต่างในแต่ละคน เพื่อเป็นเครื่องหมายที่ส่งสัญญาณต่อระบบภูมิคุ้มกันว่า เซลล์ใดที่เป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย เซลล์ใดเป็นสิ่งแปลกปลอมจากภายนอก


การที่ EndoMac progenitors ไม่มีเครื่องหมายดังกล่าวช่วยลดการกระตุ้นการต่อต้านของร่างกายเมื่อนำไปปลูกถ่าย ทำให้มันมีศักยภาพในการใช้เป็นทางเลือกใหม่ในการรักษาโดยไม่ต้องกังวลเรื่องการปฏิเสธจากระบบภูมิคุ้มกัน


ความเข้าใจเกี่ยวกับแมกโครฟาจ (Macrophages)

Macrophages คือเซลล์ภูมิคุ้มกันแรกเริ่ม ประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงพัฒนาการของตัวอ่อน (embryonic development) มีบทบาทสำคัญในการซ่อมแซมเนื้อเยื่อและปกป้องร่างกายจากสิ่งแปลกปลอม เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เนื้อเยื่อส่วนใหญ่จะยังคงรักษาเซลล์ภูมิคุ้มกันนี้ไว้ ด้วยการแบ่งเซลล์เพิ่มเป็นครั้งคราวเพื่อรักษาภูมิคุ้มกันของร่างกาย


นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งสมมติฐานไว้ว่า เซลล์ต้นกำเนิดที่หมุนเวียนอยู่ในเลือด สามารถสร้าง macrophages ขึ้นใหม่ได้ตลอดช่วงวัยผู้ใหญ่ สอดคล้องกับการค้นพบ EndoMac progenitors ครั้งล่าสุดนี้ ที่ชี้ให้เห็นว่าเซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อน ที่มีหน้าที่ผลิต macrophages จะถูกฝังอยู่ในหลอดเลือดใหญ่ของหัวใจในช่วงพัฒนาการเริ่มต้น และเมื่อเติบโตขึ้น เซลล์ต้นกำเนิดเหล่านี้จะสร้าง macrophages ใหม่ในเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย


อย่างไรก็ดี งานวิจัยหลายชิ้นในปัจจุบันท้าทายความเชื่อในอดีตที่ว่า Macrophages เกิดขึ้นจากไขกระดูก เนื่องจากการศึกษาหลายชิ้นระบุว่า เซลล์ต้นกำเนิดที่มาจากไขกระดูกอาจจำกัดแค่เฉพาะบางเนื้อเยื่อ เช่น ลำไส้ ผิวหนัง และหัวใจ


ขณะที่นักวิจัยหลายคนในขณะนี้เสนอว่า Macrophages ในผู้ใหญ่อาจมาจากเซลล์ต้นกำเนิดในช่วงแรกเริ่มของชีวิตที่ไม่เคยถูกค้นพบมาก่อน แน่นอนว่าทฤษฎีนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียง แต่การค้นพบ EndoMac progenitors ได้ช่วยสนับสนุนทฤษฎีที่ว่านี้


ขณะนี้ นักวิจัยกำลังขยายการศึกษานี้ไปสู่การทดสอบในเนื้อเยื่อมนุษย์ โดยคาดว่าจะทราบผลการวิจัยในอีก 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะนำไปสู่ความก้าวหน้าที่สำคัญในด้านการรักษาและการฟื้นฟูเนื้อเยื่อ


ที่มาข้อมูล InterestingEngineering

ที่มารูปภาพ Freepik

ข่าวที่เกี่ยวข้อง