รีเซต

รื่นวดี สุวรรณมงคล เปิดจุดยืน ก.ล.ต. กำกับ‘ดิจิทัล แอสเซท’

รื่นวดี สุวรรณมงคล เปิดจุดยืน ก.ล.ต. กำกับ‘ดิจิทัล แอสเซท’
มติชน
27 ธันวาคม 2564 ( 09:11 )
35
รื่นวดี สุวรรณมงคล เปิดจุดยืน ก.ล.ต. กำกับ‘ดิจิทัล แอสเซท’

ความร้อนแรงของ สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset : ดิจิทัล แอสเซท) ในประเทศไทย ร้อนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากได้รับความนิยมและความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มขึ้นไม่หยุด โดยเฉพาะนักลงทุนหน้าใหม่ ซึ่งคนรุ่นใหม่ในยุคสมัยปัจจุบันและอนาคต มุ่งใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต่อการดำรงชีวิต

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รายงานสรุปภาวะตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล (ดิจิทัล แอสเซท) ล่าสุด ณ วันที่ 24 ธันวาคม 2564 พบว่า ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลก มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap : มาร์เก็ต แคป) ประมาณ 2.15 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 40.67% มาจาก บิทคอยน์ และมีมูลค่าการซื้อขายล่าสุด อยู่ที่ 89. 61 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อวัน มีบัญชีผู้ลงทุนทั้งหมด 1.77 ล้านบัญชี

โดยพบว่า มูลค่าการซื้อขายส่วนใหญ่มาจากบุคคลธรรมดาในประเทศ ย้อนหลัง 8 เดือนล่าสุด ได้แก่ เดือนพฤษภาคม มูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 1.56 แสนล้านบาท มิถุนายน 6.1 หมื่นล้านบาท กรกฎาคม 5.2 หมื่นล้านบาท สิงหาคม 1.17 แสนล้านบาท กันยายน 9.7 หมื่นล้านบาท ตุลาคม 1.02 แสนล้านบาท พฤศจิกายน 1.93 แสนล้านบาท และธันวาคม 7.3 หมื่นล้านบาท ส่วนนิติบุคคลเป็นกลุ่มต่างประเทศ ที่มีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อบัญชีสูงที่สุด ย้อนหลัง8 เดือนล่าสุด ได้แก่ พฤษภาคม มูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 772 ล้านบาท มิถุนายน 410 ล้านบาท กรกฎาคม 300 ล้านบาท สิงหาคม 415 ล้านบาท กันยายน 324 ล้านบาท ตุลาคม 291 ล้านบาท พฤศจิกายน 376 ล้านบาท และธันวาคม 336 ล้านบาท

สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของตลาดสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency : คริปโทเคอร์เรนซี) ซึ่งเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ดิจิทัล ที่เห็นการเติบโตในด้านมูลค่าอย่างก้าวกระโดด รวมถึงเห็นความนิยมในการนำมาใช้ซื้อขายสินค้าและบริการแบบปกติ หรือการใช้จ่ายทดแทนเงินตราทำให้เห็นความกังวลตามมาว่า ประเทศไทยมีความพร้อมในการก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัล แอสเซทมากน้อยเพียงใด ผลเชิงบวกและเชิงลบ จะเห็นในเชิงใดมากกว่ากัน หรือสามารถหักลบกลบกันได้หรือไม่

ล่าสุด “มติชน” มีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษ รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ฉายภาพในประเด็นนี้ว่า

ปริมาณการซื้อขายในปี 2564 มีปริมาณสูงมาก หากเทียบกับช่วงปีก่อนหน้าที่ผ่านมา รวมถึงขนาดของตลาดคริปโทเติบโตขึ้นมาก ซึ่งมีความสอดคล้องกับภาพที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยเห็นอัตราผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนในรูปแบบอื่น แต่หากประเมินในด้านความผันผวน พบว่า การลงทุนในตลาดคริปโทมีความผันผวนสูงมากอย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำคำว่า ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง โดย ก.ล.ต.ไม่ได้เข้าไปใช้มาตรการกำกับดูแล แต่เน้นเรื่องการให้องค์ความรู้กับผู้ลงทุนอย่างถ่องแท้มากที่สุดแทน รวมถึงการขอความร่วมมือจากผู้ให้บริการ ในการเน้นให้ผู้ซื้อขายมีองค์ความรู้และความเข้าใจ นอกเหนือจากการทำการตลาดเพียงเท่านั้น

⦁ย้ำ‘คริปโท’ไม่ใช่เงินตรา
หากถามว่าพฤติกรรมของผู้ซื้อขาย หรือนักลงทุนในขณะนี้ มีความเหมาะสมในการใช้คริปโทซื้อขาย หรือแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการแบบปกติมากน้อยเท่าใดนั้นข้อนี้คงไม่สามารถนำพฤติกรรมของบุคคลมาเป็นตัวประเมินได้ เนื่องจากเงื่อนไขจริงๆ ขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละประเทศ ที่มีกำกับไว้แล้วอย่างชัดเจนมากกว่า โดยประเทศไทยก็มีกฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า คริปโทเคอร์เรนซีไม่ใช่เงินตรา เป็นเพียงสื่อกลางในการได้มาเท่านั้น ทำให้ความแน่นอนของกฎหมายที่มีอยู่ ทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการจึงต้องทำด้วยความระมัดระวังสูงสุด

ก.ล.ต.ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด เนื่องจากทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยได้ทำหนังสือถึงบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทย ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ก.ล.ต. ซึ่งได้แจ้งให้ทราบว่า หากออกแคมเปญ หรือทำการตลาดในรูปแบบใดก็ตาม อยากขอให้พูดภายใต้ขอบเขตที่สามารถทำได้จริง หรือพูดบนข้อเท็จจริงเท่านั้น เนื่องจากมีบางกรณีที่พูดถึงการรับชำระสินค้า หรือบริการ ผ่านเหรียญคริปโท แต่ความจริงแล้วมีการจัดจุดแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราก่อน ทำให้อาจสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้ซึ่งมีอีกหนึ่งกลไกในการแลกเปลี่ยนจากเหรียญเป็นเงินตราก่อน เนื่องจากต้องไม่ลืมความเสี่ยงด้วยว่า หากซื้อด้วยเหรียญคริปโทราคา 100 บาท แต่ผ่านไปไม่กี่นาที หากราคาปรับเพิ่มขึ้น ก็ถือว่าเป็นประโยชน์กับบริษัทไป แต่หากราคาปรับลดลง หมายถึงการขาดทุน และเป็นลบกับธุรกิจแน่นอน

ตามข้อมูลทางการ ระบุชัดว่า คริปโทไม่ใช่เงินตรา ตามพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501 ที่กำหนดขึ้นโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล จะเเบ่งสินทรัพย์ดิจิทัลออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1.คริปโทเคอร์เรนซี ที่เป็นหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ที่ถูกสร้างขึ้นบนระบบ หรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์โดยมีความประสงค์ที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล โดยคริปโทเคอร์เรนซีไม่มีการกำหนดสิทธิในเหรียญ แต่ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า หรือบริการ (ยอมรับแทนเงินสำหรับใน Community) และ 2.โทเคนดิจิทัล ที่เป็นหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบ หรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการต่างๆ ใน 3 ลักษณะ ได้แก่ 1.Investment token-ใช้กำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการ หรือกิจการ เช่น การได้เงินปันผล ส่วนแบ่งการลงทุน 2.Utility token (ไม่พร้อมใช้)-ใช้กำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจงในอนาคต เช่น การกำหนดสิทธิในการเข้ารับบริการในแพลตฟอร์มที่ยังสร้างไม่สำเร็จ และ 3.Utility token (พร้อมใช้)-ใช้กำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งสามารถใช้สิทธินั้นได้ทันที

⦁ธปท-คลัง-ก.ล.ต.แนวทางเดียวกัน
หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธทป.) ได้ทำหนังสือชี้แจงว่า ไม่รับรองการใช้คริปโทเคอร์เรนซี ที่เอกชนสร้างขึ้นมาสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เนื่องจากมีความผันผวนสูงจากการใช้เพื่อเก็งกำไร และมีความเสี่ยงจากการสูญเสียมูลค่าหากถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ และการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน จึงอาจไม่เหมาะสำหรับการนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ ส่วนในความหมายจะเป็นวงกว้างมากน้อยเท่าใด ก็ขึ้นอยู่กับการตีความของ ธปท.ที่ชัดเจนเป็นหลัก

ด้านสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่ระบุถึงทิศทางของคริปโทเคอร์เรนซีต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย ซึ่งมองว่า หากในอนาคตมีการใช้ทดแทนเงินบาทในวงกว้าง อาจก่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจที่มากขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน รวมถึงเสถียรภาพของระบบการเงิน หรือระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ เพราะคริปโทมีจุดเด่นในการทำธุรกรรมที่รวดเร็ว ต้นทุนต่ำ และปลอดภัยจากการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนติดตามการเคลื่อนไหวของเงิน แม้ไม่มีตัวกลาง และสามารถป้องกันการปลอมแปลงได้

ในส่วนของ ก.ล.ต. เนื่องจากเป็นหน่วยงานกำกับดูแลที่ทำงานสนับสนุนร่วมกับ ธปท. และกระทรวงการคลัง ทำให้หากทั้ง 2 หน่วยงานมีนโบบายออกมาในรูปแบบใด ก.ล.ต.ก็รับนโยบายและทำงานในแบบเดียวกัน โดยบรรยากาศในลักษณะนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ในหลายประเทศทั่วโลกก็เห็นภาพการทำงานไม่แตกต่างกัน เนื่องจากเห็นหน่วยงานกำกับดูแลในหลายประเทศ มีการทำงานร่วมกันมากขึ้น ทำให้พฤติกรรมการซื้อขายคริปโต ทั้งในตลาดไทยและต่างประเทศ มีภาพเหมือนกัน การขอความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อลดช่องว่างทำเหมือนกัน ในต่างประเทศก็มีการออกคำเตือน เพื่อลดความเสี่ยงเหมือนที่ผู้กำกับดูแลไทยทำ แต่ในต่างประเทศไปไกลในเรื่องการโฆษณาด้วย อาทิ อังกฤษ มีการทำโฆษณาสั้น เพื่อชักชวนให้สร้างระบบการซื้อขายในตลาดคริปโท ให้ทำด้วยความระมัดระวัง

สิ่งที่ ก.ล.ต.ทำ ถือว่าไม่ได้หลุดขอบ หรือเข้มงวด จนทำให้การพัฒนาเกิดขึ้นไม่ได้ แต่ขึ้นอยู่กับมุมมองของใคร ที่มองอย่างไร และคิดอย่างไรมากกว่า ซึ่ง ก.ล.ต.มีหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรม ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงตลาดเงินและตลาดทุนมากที่สุด ขณะเดียวกันก็มีหน้าที่ในการคุมครองผู้ลงทุนตามกฎหมายด้วย ซึ่งต้องหน้าที่ควบคู่กันไป ไม่สามารถเลือกทำเฉพาะขาใดขาหนึ่งได้

“เพราะกฎหมายเขียนไว้แล้ว จึงไม่สามารถเลือกทำสิ่งที่อยู่มากกว่ากฎหมายให้อำนาจไว้ได้ รวมถึงหากไม่ทำตามกฎหมาย ก็อาจผิดฐานทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ได้โดยในปี 2565 จะมีมาตรการหรือกฎเกณฑ์อะไรออกมา จะต้องติดตามต่อไป เพราะขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่งจะมีออกมาแน่นอน” รื่นวดีกล่าวส่งท้าย

อาจพูดได้ว่า อย่าตกใจที่ประเทศไทยขยับในรูปแบบนี้เพราะทุกอย่างมีหลากหลายมิติ ให้ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดกันต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง