รีเซต

ปะการังไทยฟื้นแล้ว 60% หลังเจอวิกฤตฟอกขาวหนัก

ปะการังไทยฟื้นแล้ว 60% หลังเจอวิกฤตฟอกขาวหนัก
TNN ช่อง16
25 เมษายน 2568 ( 10:30 )
5

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ปะการังฟอกขาวในประเทศไทยว่า จากเหตุการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่เมื่อช่วงกลางเดือนเมษายน 2567 ซึ่งเกิดขึ้นจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น ประกอบกับตะกอนที่ทับถมในแนวปะการัง ส่งผลให้ปะการังเกิดความเครียดและขับสาหร่ายซูแซนเทลลี (Zooxanthellae) ออกจากร่างกาย ทำให้ปะการังสูญเสียสีตามธรรมชาติ กลายเป็นสีขาว และเสี่ยงต่อการตาย


โดยในช่วงแรกพบว่าปะการังฟอกขาวประมาณร้อยละ 60 – 80 แต่ในเวลาต่อมาสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ปะการังสามารถฟื้นตัวได้ประมาณร้อยละ 60 ขณะที่มีปะการังตายจากการฟอกขาวประมาณร้อยละ 40 และยังมีแนวปะการังบางพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบเลย คิดเป็นประมาณร้อยละ 10 ของพื้นที่สำรวจ

จากการสำรวจล่าสุดพบว่า บริเวณฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งเคยเกิดการฟอกขาวสูงสุดร้อยละ 55 ขณะนี้มีแนวโน้มการฟื้นตัวอยู่ที่ร้อยละ 60–70 ขณะที่อัตราการตายอยู่ในระดับร้อยละ 30 – 40 ในขณะที่ฝั่งอ่าวไทย พบการฟอกขาวสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2567 สูงถึงร้อยละ 90 โดยปะการังน้ำตื้นได้รับความเสียหายมากที่สุด ขณะที่ปะการังน้ำลึกได้รับผลกระทบน้อยกว่า มีอัตราการฟื้นตัวร้อยละ 40 – 60 และอัตราการตายจากการฟอกขาวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 30 – 50 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ไม่พบการฟอกขาวเพิ่มขึ้นแล้ว ถือเป็นสถานการณ์ที่ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้


อธิบดี ทช. ระบุว่า การจัดการสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพตามนโยบาย "ลด งด ช่วย" มีส่วนสำคัญในการลดความเสียหายจากวิกฤตปะการังฟอกขาว โดยประกอบด้วย

  • ลด ผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น งดให้อาหารปลา งดใช้ครีมกันแดดที่มีสารอันตรายต่อปะการัง
  • งด การท่องเที่ยวบางพื้นที่ โดยประกาศปิดจุดท่องเที่ยว รวมถึงการงดกิจกรรมดำน้ำลึกและดำน้ำตื้น
  • ช่วย ปะการัง โดยการเคลื่อนย้ายปะการังที่ฟอกขาวไปยังพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต

ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงหน่วยงานในพื้นที่ ถือเป็นพลังสำคัญในการลดความเสียหายและเร่งการฟื้นตัวของแนวปะการัง

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งยังคงเดินหน้าตามแผนฟื้นฟูแนวปะการังในปี 2567 ด้วยการขยายพื้นที่ฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการังใน 7 จังหวัด ได้แก่ ตราด ระยอง ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี พังงา และภูเก็ต รวม 12 ไร่ นอกจากนี้ยังปลูกฟื้นฟูปะการังเพิ่มเติมอีก 24 ไร่ รวมถึงอนุบาลและเพาะพันธุ์ปะการังจำนวน 60,000 โคโลนี


การอนุรักษ์และฟื้นฟูแนวปะการังจึงเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ด้วยการบริหารจัดการที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้ทรัพยากรแนวปะการังของประเทศไทยสามารถกลับคืนสู่ความสมบูรณ์ในอนาคต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง