รีเซต

Inspiration 4 ภารกิจอวกาศสู่วงโคจรโดยนักบินอวกาศพลเรือนกลุ่มแรกของโลก

Inspiration 4 ภารกิจอวกาศสู่วงโคจรโดยนักบินอวกาศพลเรือนกลุ่มแรกของโลก
TNN ช่อง16
15 กันยายน 2564 ( 02:03 )
161

บริษัท SpaceX เตรียมทำภารกิจ Inspiration 4 ภารกิจอวกาศสู่วงโคจรโดยนักบินอวกาศที่เป็นพลเรือนกลุ่มแรกของโลก นักบินอวกาศ 4 คนเดินทางขึ้นสู่อวกาศโดยใช้ยานอวกาศ Crew Dragon Resilience และจรวด Falcon 9 ในวันที่ 15 กันยายน เวลาประมาณ 20.00 น. ตามเวลาในประเทศสหรัฐอเมริกาหรือในวันที่ 16 กันยายน เวลาประมาณ 07.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย จากบริเวณฐานปล่อยจรวด LC-39A ศูนย์อวกาศ จอห์น เอฟ. เคนเนดี รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา


ภารกิจ Inspiration 4 ภารกิจแรกของโลกที่มีการส่งยานอวกาศขึ้นสู่วงโคจรของโลกโดยนักบินอวกาศที่เป็นพลเรือนทั้งหมดแตกต่างจากภารกิจอวกาศก่อนหน้านี้ที่มีนักบินอวกาศเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ทำภารกิจหลักอยู่ภายในยานอวกาศ ภารกิจนี้เริ่มต้นโดยจาเร็ด ไอแซคแมน (Jared Isaacman) มหาเศรษฐีชาวสหรัฐอเมริกา โดยได้ทำการเปิดระดมทุนและสามารถระดมทุนมูลค่ากว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 6,590 ล้านบาท เงินจากการระดมทุนจะถูกมอบให้กับโรงพยาบาลเด็กเซนต์ จู๊ด (St. Jude Children's Research Hospital) เพื่อใช้เป็นทุนในการศึกษาวิจัยค้นคว้าวิธีการรักษาโรคมะเร็งในเด็ก


นักบินอวกาศ 4 คน ถูกคัดเลือกเพื่อเป็นตัวแทนของแนวคิดหลักในการทำภารกิจ 4 ประการ ประกอบด้วยจาเร็ด ไอแซคแมน (Jared Isaacman) มหาเศรษฐีชาวสหรัฐอเมริกาวัย 38 ปี CEO และผู้ก่อตั้งบริษัท Shift4 Payments เขาเป็นตัวแทนของความเป็นผู้นำ (Leadership) เฮย์ลีย์ อาร์เซโนซ์ (Hayley Arceneaux) ผู้ที่รอดชีวิตจากการป่วยเป็นมะเร็งในวัยเด็กและปัจจุบันทำงานเป็นผู้ช่วยพยาบาลในโรงพยาบาลเด็กเซนต์ จู๊ด เธอเป็นตัวแทนของความหวัง (Hope) คริส เซมโบรสกี (Chris Sembroski) อดีตทหารในกองทัพสหรัฐอเมริกาได้รับคัดเลือกจากผู้บริจาคเงินในการระดมทุน เขาเป็นตัวแทนของความเอื้ออาทร (Generosity) ดร.ซีอาน พรอคเตอร์ (Dr. Sian Proctor) ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาได้รับการคัดเลือกจากผู้แข่งขันทำแผนธุรกิจในภารกิจ เธอเป็นตัวแทนของความเจริญรุ่งเรือง (Prosperity)


ยาน Crew Dragon Resilience ได้รับการออกแบบพิเศษโดยการติดตั้งโดมแก้วคิวโพลา (Cupola) ไว้ด้านบนสุดของยานทำให้นักบินอวกาศสามารถมองเห็นความสวยงามของโลกสีน้ำเงินและอวกาศได้อย่างชัดเจน ก่อนหน้านี้พื้นที่บริเวณด้านบนสุดของยานเคยถูกใช้เพื่อเป็นจุดเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติ ISS แต่ในภารกิจ Inspiration 4 ยานจะไม่มีการเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศ ISS



Spacex บริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีอวกาศ ยานอวกาศและจรวดของบริษัทได้รับการออกแบบให้สามารถเดินทางกลับโลกเพื่อใช้งานซ้ำได้ทำให้ต้นทุนในการส่งยานอวกาศมีราคาที่ต่ำลงเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐสามารถเข้าถึงภารกิจอวกาศ ยาน Crew Dragon Resilience เคยถูกใช้งานมาแล้ว 1 ครั้งในภารกิจ Crew-1 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2020 ส่วนจรวด Falcon 9 เคยถูกใช้งานมาแล้ว 2 ครั้งในภารกิจขนส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ


หลังจากยาน Crew Dragon Resilience และนักบินอวกาศทั้ง 4 คน เดินทางขึ้นสู่อวกาศยานจะทำการโคจรรอบโลกที่ระดับความสูงประมาณ 590 กิโลเมตร ภารกิจทั้งหมดใช้ระยะเวลาประมาณ 3 วัน โดยมีการถ่ายทอดสดความเคลื่อนไหวภายในยานอวกาศเกือบทั้งภารกิจ นอกจากนี้ยังมีการจัดทำสารคดีพิเศษให้ผู้รับชมทั่วโลกผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคนบนโลกที่ชื่นชอบอวกาศ รวมไปถึงเด็ก ๆ เยาวชนที่จะกลายเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีอวกาศของมนุษยชาติในอนาคต


แหล่งที่มา inspiration4.com 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง